วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

นิธิกัณฑสูตร

ตำนานนิธิกัณฑสูตร

น ิธิกัณฑสูตร เรียกว่า นิธิกัณฑคาถา ก็มี พระสูตรนี้ เป็นคาถาปัฐยาวัตรล้วน มาในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ อันคาถานิธิกัณฑ์นี้ เป็นคาถาที่พระสงฆ์นิยมสวดอนุโมทนาในงานถวายทานที่เป็นหลักฐานแก่พระศาสนา เช่น ถวายที่ดิน เลือกสวน ไร่นา เป็นที่ธรณีสงฆ์บ้าง ถวายอาคาร โรงเรือน ให้เป็นศาสนสมบัติของวัดบ้าง ถวายเงินอุทิศเข้าเป็นเงินมูลนิธิการกุศลทั่วๆไปบ้าง กุศลทานเช่นนี้เป็นบุญถาวร มั่นคงอยู่ตลอดกาลนาน ผู้บริจาคอุทิศ ชื่อว่าบริจาคทานอยู่เป็นนิตย์ พระสงฆ์ผู้รับจึงตั้งกัลยาณจิตสวดอนุโมทนาด้วยสูตรนี้ บางแห่งมีเวลาน้อย ก็สวดเพียงครึ่งเดียวทั้งที่สุดแต่โอกาสอำนวย นิธิกัณฑสูตรนี้เป็นคาถาที่ไพเราะทั้งอรรถและพยัญชนะ

จ ะได้นำเรื่อง พรรณนาถึงความเป็นมา ของมนต์บทนี้มาบรรยายประดับสติปัญญา เพิ่มพูนปุญญสัมปทาของท่านผู้สดับ ดังที่เคยปฏิบัติมาแล้วก่อน ทั้งเพื่อเป็นนิทัสสนะอุทาหรณ์ของธรรมจารีชนสืบไป เรื่องมีว่า

ส มัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับ ณ พระเชตวันวิหารพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกบริวาร ประทานธรรมเทศนาโปรดพุทธบริษัท ให้มั่นคงในสุปฏิบัติตามสันติวรบท ซึ่งพระองค์ได้ทรงกำหนดไว้ตามกำลังแห่งวิสัยเวไนยบุคคล ผู้ควรจะได้ดำรงอยู่ในอริยผลบุญญสัมปทา ดังนั้นมหาชนจึงได้พากนมาสดับรับพระโอวาททั่วทุกทิศ ด้วยกัลยาณจิตสัทธาญาณสัมปยุต ประกาศตนเป็นพุทธบุตรสุดจะปริมาณ วันหนึ่ง มหัธนะกุฏุมพี ผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์และโภคะอันมหาศาล ทั้งที่ศรัทธาปสันนาการปราศจากมัจฉริยะจิต เลื่อมใสในพระธรรมสามิสรบรมศาสดา จัดเครื่องชัชชโภชนาไทยทาน ถวายพระสงฆ์สาวกอยู่ในพุทธวิหาร มีพระบรมศาสดาจารย์เป็นประมุข ด้วยญาณประยุกตธรรมภาคี ก่อให้เกิดความยินดีแก่พุทธบริษัททั่วหน้า

ข ณะนั้น ราชาขัตติเยนทร์ปัสเสนทิ ทรงพระดำริวุ่นอยู่ด้วยราชกิจของพระองค์ มีพระราชประสงค์ด้วยทรัพย์เพื่อจับจ่าย จึงมีพระกระแสรับสั่งให้ราชบุรุษออกไปเชิญมหัทธนะผู้นี้ให้มาเฝ้าในพระราชวั ง ราชบุรุษเชิญพระกระแสรับสั่งไปแจ้งแก่ท่านมหัทธนะกุฎุมพี ขณะที่กำลังบำเพ็ญกุศลทานบารมี ที่พระเชตวันวิหาร ท่านมหัทธนะได้ปฏิสันถารไต่ถามถึงวัตถุประสงค์จำนงหมาย เมื่อเห็นว่ากิจที่ประสงค์ไม่แรงร้ายรีบร้อน จึงร้องขอให้ราชบุรุษกลับไปก่อน ส่วนตนจะติดตามเข้าไปในภายหลัง ด้วยบัดนี้กำลังฝังขุมทรัพย์อยู่ จะต้องคอยควบคุมดูการงาน โดยกาลไม่เนิ่นนานบัดเดี๋ยวใจ ข้าพเจ้าก็จะตามท่านไปยังพระราชสถาน มิให้เสียราชการ ดังกล่าวมา

ค วามจริง อันสุนทรวาจาปราศรัยของท่านกุฎุมพี ย่อมเป็นธรรมคดีชวนให้พินิจ ผู้มีปัญญาได้ขบคิดแล้วก็จะเห็นชัดว่า บรรดาทรัพย์สมบัตินั้นเพียงเป็นเครื่องอาศัย มิได้เป็นขุมทรัพย์ติดตามไปในภพหน้า แต่ว่าบุญญสัมปทา มี ทาน ศีล เป็นต้น ย่อมเป็นขุมทรัพย์ติดตามตน ควรจะพยายามบำเพ็ญไว้ ดังนั้น ท่านกุฎุมพีจึงปราศรัยแก่ราชบุรุษว่า ข้าพเจ้ากำลังติดธุระฝังขุมทรัพย์อยู่ ในขณะที่กำลังถวายทานแก่พระบรมครูและพระสาวกทุกพระองค์ ซึ่งท่านกุฎุมพีแน่ใจลงว่า เป็นขุมทรัพย์แน่แท้ ตามกระแสพระพุทธศาสนา

เ มื่อสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จภุตตากิจ ตลอดพระสงฆ์สาวกแล้วมินาน ก็ทรงประทานคาถาอนุโมทนา โดยนิธิทัณฑคาถา ปรารภบุญญสัมปทา ที่ท่านมหัทธนะได้บำเพ็ญในวันนั้นว่า เป็นนิธิ คือเป็นขุมทรัพย์ที่จะติดตามเกื้อกูลสนองไปในที่ทุกสถาน ด้วยพระพุทธบรรหารภาษิตว่า “ นิธิ ํ นิเธติ ปุริโส” เป็นอาทิ ความว่า

ค นมีทรัพย์ นำเอาทรัพย์ของตนไปขุดหลุมฝังไว้ในที่ใดที่หนึ่ง มีริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น โดยหวังจะปกปิดมิให้ใครล่วงรู้ ตนมีทรัพย์ ด้วยความประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงราชภัย และโจรภัย เบียดเบียน หรือคราวมีหนี้สิน ก็จะนำมาชำระหนี้ หรือคราวเกิดทุพภิกขภัยและอันตรายใดๆเกิดขึ้น ก็จะได้อาศัยทรัพย์ที่ตนฝังไว้เป็นเครื่องบันเทา ช่วยให้ชีวิตของตนมีความสุขสืบไป ทรัพย์ที่บุคคลฝังไว้เช่นนี้ จัดว่าเป็นนิธิขุมทรัพย์อย่างหนึ่งในโลกนี้

ค วามจริง ขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ในลักษณะนี้ ไม่สำเร็จประโยชน์ดังที่เจ้าของมุ่งหมายเสมอไป เพราะมันเคลื่อนที่ไปเสียก็ได้ เจ้าของลืมที่ฝังเสียก็ได้ นาคบ้าง ยักษ์บ้าง เอาไปเสียก็ได้ ทายาทที่ตนไม่รักไม่ใคร่ลอบขุดเอาไปเสียก็ได้ และยังในคราวเจ้าของหมดบุญอุปถัมภ์ค้ำชู ทรัพย์นั้นๆ ก็ยังพลันถึงความพินาศได้อีกด้วย

เ มื่อพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงถึงความไม่จริงเป็นแก่นสาร ของขุมทรัพย์มในลักษณะนี้แล้ว ก็ทรงพระประสงค์จะแสดงขุมทรัพย์ที่ถาวรมั่นคงที่ผู้รู้สรรเสริญ โดยที่ปราศจากภัยพิบัติทั้งมวล แก่พุทธบริษัท ซึ่งมีมหัทธนะกุฎุมพี เป็นประมุข นั่งสดับพระโอวาทอยู่ในที่นั้นสืบไป จึงตรัสว่า “ยสฺส ทาเนน สีเลน” เป็นอาทิ ความว่า ดูกร มหัทธนะส่วนผู้ใดมีศรัทธาเชื่อมั่นในความดีที่ได้ทำไว้ว่า เป็นผลดี มีผลดีตามสนอง ได้ฝังขุมทรัพย์คือ บุญลงไว้ด้วยดีแล้ว ด้วยทาน ๑ ด้วยศีล ๑ ด้วยสัญญมะ คือการสงวนตน ๑ ด้วยทมะ คือการข่มใจ ๑ โดยจะบำเพ็ญในเจดีย์ก็ตาม ในพระสงฆ์ก็ดี ในคฤหัสถ์หรือบรรพชิตใดๆก็ตาม ในอาคันตุกะแขกผู้มาถึงที่อยู่ก็ตาม แม้จะบำเพ็ญแก่มารดาบิดาก็ตาม หรือในหมู่ญาติ มีพี่หญิง พี่ชาย เป็นต้นก็ตาม ขุมทรัพย์ในลักษณะนี้แหละ ชื่อว่า ขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ดีแล้ว ฝังไว้ชอบแล้ว เพราะปราศจากสรรพภัยพิบัติทั้งมวล ไม่มีใครตามผจญได้ ทั้งมีปกติติดตามเจ้าของทุกสถาน เมื่อเจ้าของละร่างกายทำลายขันธ์แล้ว ก็จะนำเอาทรัพย์นั้นไปบำรุงสุขสำหรับตนอีกด้วย

ม หัทธนะ ขุมทรัพย์ในรูปนี้ ไม่เป็นของสาธารณะแก่คนทั่วไป โจรใจร้ายจะช่วงชิงเอาไปก็ไม่ได้ โดยปกติคนมีปัญญาย่อมทำบุญ ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นขุมทรัพย์ อันมีผลติดตามสนองเจ้าของอยู่เสมอ

ใ ช่แต่เท่านั้น มหัทธนะ บุญญนิธิ ขุมทรัพย์คือบุญนี้แหละที่อำนวยความใคร่ให้สำเร็จได้ทุกอย่าง เทวดาและมนุษย์ปรารถนาสมบัติใด ก็สำเร็จได้ด้วยนิธินี้

ม หัทธนะ คนที่ปรารถนาผิวงาม เสียงเพราะ ทรวดทรงงาม หรือรูปร่างงาม ปรารถนาความเป็นใหญ่ หรือต้องการบริวารมากก็ดี ก็สำเร็จด้วยอานุภาพของนิธินี้

ม หัทธนะ ผู้ที่ปรารถนาเป็นเจ้าในประเทศราชก็ดี เป็นพระราชาในประเทศหนึ่งก็ดี เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ก็ดี เป็นพระราชาในเทวโลกก็ดี ความปรารถนานั้นๆ ก็สำเร็จได้ด้วยอานุภาพของนิธินี้

มหัทธนะ ผู้มีปรารถนามนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และแม้นิพพานสมบัติ ก็สำเร็จได้ด้วยอานุภาพของนิธินี้

มหัทธนะ ถึงผู้ที่อาศัยมิตตะสัมปทา มั่นอยู่ในปฏิปทาโดยแยบคาย มีความเป็นผู้ชำนาญในวิชาและวิมุติได้ ก็ด้วยอานุภาพของนิธินี้

มหัทธนะ อริยะสมบัติทั้งหลาย คือ ปฏิสัมภิทา วิโมกข์ สาวกบารมี ปัจเจกโพธิและพุทธภูมิ เหล่านี้ ก็สำเร็จได้ด้วยอานุภาพของนิธินี้

ม หัทธนะ เพราะบุญญสัมปทา ซึ่งเป็นนิธิที่อำนวยความปรารถนาให้สำเร็จอย่างนี้แหละ บัณฑิตผู้มีปัญญาจึงสรรเสริญความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ ด้วยประการฉะนี้

ใ นเวลาจบพระธรรมเทศนาแห่งนิธิกัณฑคาถา มหัทธนะ กุฎุมพีพร้อมด้วยบุคคลเป็นอันมาก ซึ่งนั่งสดับรับรสพระธรรมเทศนาอยู่ในที่นั้นได้บรรลุพระโสดาปัตติผล แล้วมหัทธนะกุฎุมพีก็กราบทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำปทักษิณ แล้วเดินทางไปเฝ้าพระเจ้าปัสเสนทิ ยังพระราชสถาน

เขาว่าแกฝังขุมทรัพย์รึ? มหัทธนะ” พระเจ้าปัสเสนทิ ทรงรับสั่ง

เป็นความจริง พระเจ้าค่ะ” กุฎุมพี กราบทูล

ฝังไว้มากรึ มหัทธนะ”

ไม่มาก พระเจ้าค่ะ”

ฝังไว้ทำไม มหัทธนะ ในวัดในวา”

ฝังไว้เพื่อปลอดภัย และเพื่อจะได้ประโยชน์สุขในเมื่อหน้า พระเจ้าค่ะ”

มหัทธนะ แกฝังอะไรไว้บ้าง”

ฝังทาน ศีล สัญญมะ และทมะ พระเจ้าค่ะ”

ไหน? แกว่าใหม่อีกทีซิ” พระเจ้ากรุงสาวัตถีรับสั่งออกด้วยความสงสัย “แกฝังอะไรไว้น๊ะ”

ทาน พระเจ้าค่ะ”

ฝังทาน อย่างนั้นรึ”

ถูกแล้ว พระเจ้าค่ะ”

เอ๊ะ! ฝังบุญฝังทานได้อย่างไร มหัทธนะ มีแต่เขาทำบุญทำทานกัน”

ก็เดิม ใครกราบทูลฝ่าพระบาทให้ทรงทราบเล่าว่า ข้าพระองค์ฝังขุมทรัพย์”

ร าชบุรุษบอกฉันนะซิ” พระเจ้าปัสเสนทิทรงรับสั่ง “เขาว่า แกบอกเขาว่า กำลังฝังขุมทรัพย์อยู่ ความจริง ก็เพียงทำบุญ เลี้ยงพระสงฆ์องค์เจ้าเท่านั้น แต่แล้วทำไม แกจึงบอกเขาว่า ตัวกำลังฝังขุมทรัพย์เล่า ทำให้พิศวงงงงวยไปตามๆกัน”

เ ทวะ ข้าพระองค์มิได้ตั้งใจจะกลั่นแกล้งพูดให้เกิดความพิศวงงงงวยดังพระกระแสรับส ั่งเลย หากแต่ข้าพระองค์ได้สดับพระพุทธโอวาท ที่พระบรมศาสดากรุณาประทานให้วันนี้แท้ๆ ข้าพระองค์เห็นว่า เป็นมงคล จึงบอกแก่ราชบุรุษด้วยความเลื่อมใส”

มหัทธนะ แกว่า พระบรมศาสดาตรัสสอนอย่างนั้นรึ ? ถ ้าเช่นนั้นก็คงตรัสสอนมาก พอให้ความสว่าง มีความรู้ความเข้าใจได้ เพราะโดยปกติพระบรมศาสดาจะไม่ทรงรับสั่งอะไรให้เกิดความสงสัยแก่ผู้ฟัง ใช่ไหม? มหัทธนะ”

พ ระเจ้าค่ะ เป็นความจริงดังพระกระแสรับสั่ง” แล้วมหัทธนะกุฎุมพี ก็ยกเรื่องนิธิกัณฑกถา ที่ตนได้ฟังมาจากพระบรมศาสดาเล่าถวายพระเจ้ากรุงสาวัตถีจนจบบริบูรณ์มิได้ตก หล่น เรียบร้อยทุกประการ

พ ระเจ้าปัสเสนทิ ทรงสดับด้วยความชื่นบาน รับสั่งอนุโมทนาว่าไพเราะมาก มหัทธนะ ไพเราะมาก มหัทธนะ ขุมทรัพย์คือบุญที่แกฝังไว้ในวันนี้นั้น ชอบแล้ว ทรงยกย่อง ชม มหัทธนะกุฎุมพีเป็นอันมากในที่ประชุมเสนามาตย์ราชบริพาร

ส ิ้นข้อความในนิธิกัณฑสูตรพุทธโอวาทแต่เพียงนี้ อาศัยเหตุนี้พระสงฆ์จึงนิยมสวดบาลีนิธิกัณฑ์อนุโมทนาบุญ ในคราวที่มีคนใจบุญบริจาคทรัพย์ตั้งเป็นมูลนิธิไว้ในพระศาสนา เช่น ถวายที่สวน ไร่นา บ้านเรือน โรง ร้าน อาคาร อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สุดแม้จะอุทิศทรัพย์ตามกำลังเป็นมูลนิธิ ดังที่นิยมกันอยู่บัดนี้ เพื่ออนุวัตรตามอนุสาสนีพระพุทธโอวาทที่ตรัสสอน เพื่อเจริญบุญคุณากร สถิตสถาพรแก่ผู้ปฏิบัติสืบไป.

————————–

(บรรยาย ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๙)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น