วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ติโรกุฑฑสูตร

ตำนานติโรกุฑฑสูตร

ต ิโรกุฑฑสูตร นี้ เป็นพระพุทธมนต์บทหนึ่ง ที่พระสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระเจ้าพิมพิสารมหาราช หลังจากวันที่ทรงรับพระเวฬุวันวิหาร เป็นสังฆาราม ๑ วัน ซึ่งเป็นวัดแรก วัดตัวอย่างของพระพุทธศาสนา ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายแก่พระสัมพุทธเจ้า ติโรกุฑฑสูตรนี้ มาในพระสุตตันตปิฎกขุททกนิกาย

พ ระสงฆ์ในประเทศไทยเรา นิยมสวดพระสูตรนี้ต่อท้าย ยถา สัพพี ในคราวอนุโมทนางานบำเพ็ญกุศลที่หน้าศพ หรือ อัฐิ ทั่วไปทั้งในกรุงและหัวเมือง ตลอดคามนิคมน้อยใหญ่ สุดแต่มีงานศพหรืออัฐิที่ไหน พระสงฆ์ก็สวด ติโรกุฑฑสูตร อนุโมทนาต่อท้าย ยถา สัพพี ทุกครั้งทุกคราวไป หากแต่ไม่นิยมสวดเต็มสูตร สวดเพียงภาคเดียว แต่สวดภาคปลาย ขึ้นแต่ อทาสิ เม เป็นลำดับไปจนจบสูตร เว้นภาคต้น จะเป็นเพราะกินเวลามากก็มิใช่ น่าจะเป็นเพราะเนื้อความในภาคต้น เป็นเรื่องของการทำบุญในเวลานั้น ไม่ใช่เวลานี้ แม้ในภาคปลายนั้นเอง ถ้ามีเวลาจำกัด ก็สวดเพียงครึ่งหนึ่งของภาคปลาย จับแต่ อยญฺจ โข ทกฺขิณา ทินฺนา เป็นลำดับไปจนจบ ถือเป็นหลักปฏิบัติในสังฆมณฑลทั่วกัน แม้บางองค์บางท่านจะไม่ทราบว่า มีเหตุผลเป็นมาอย่างไรก็ตามแต่เพราะอาศัยปฏิบัติกันมาจนชิน จนเป็นขนบธรรมเนียมเสียแล้ว

ใ นบางแห่งเข้าใจมากไปอีกว่า ถ้าพระสงฆ์ไม่สวดพระสูตรนี้ต่อท้าย ยถา สัพพี พร้อมกับเวลากรวดน้ำของญาติมิตรของผู้ตายแล้ว บุญกุศลจะไม่เป็นผลสำเร็จแก่ผู้ตายทีเดียว ดังนั้น จึงถือเป็นข้อสำคัญว่า ถ้าทำบุญหน้าศพ หรืออัฐิแล้ว พระสงฆ์จะต้องสวด ติโรกุฑฑสูตร ทุกครั้ง เพราะสวดเฉพาะในงานตั้งศพหรืออัฐิเท่านั้น ไม่นิยมสวดในงานอื่นๆ แม้ในงานวันนั้นจะเป็นงานทำบุญกรวดน้ำให้แก่ญาติมิตรก็ตาม นอกจากเจ้าของงานที่บำเพ็ญกุศลจะได้บอกเล่าให้พระทราบวัตถุประสงค์ในงานทำบุ ญครั้งนี้ปรารภถึงญาติมิตร ที่ตายลงโดยปัจจุบัน บังเอิญไม่ได้ศพมา เพราะศพหาย หรืออยู่ไกลออกไปถึงต่างเมืองต่างประเทศ หรือเป็นโรคติดต่ออย่างแรง ต้องฝังหรือเผาเสียโดยเร็ว เจ้าภาพยังมีอาการเศร้าโศก เพราะผู้ตายเป็นเหตุปรากฏอยู่ ที่สุดหากเจ้าภาพแจ้งให้ทราบว่า งานทำบุญครั้งนี้ เป็นงานทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน หรือวันบรรจบปี ให้แก่ผู้ตาย แม้งานเช่นนี้ พระก็สวด ติโรกุฑฑสูตร อนุโมทนาให้สมแก่รูปงาน

เ นื่องจากงานทำบุญของคนไทยเรา ไม่ว่าจะเป็นปกติหรือพิเศษจะเป็นงานมงคล หรืออวมงคล ก็ตาม เจ้าภาพนิยมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลถึงบรรพบุรุษ ตลอดญาติมิตรทุกครั้งไปเสียด้วย ดังนั้น จึงจำกัดลงไม่ได้ว่า ถ้างานทำบุญกรวดน้ำแล้ว พระสงฆ์จะต้องสวด ติโรกุฑฑสูตร เพราะกรวดน้ำกันเสียทุกคราว แม้ถึงอย่างนั้นแล้ว พระสงฆ์ก็ยังแยกงาน ทำบุญกรวดน้ำออกเป็น ๒ ประเภท เพื่อจะได้สวด ติโรกุฑฑสูตร คือ

. ง านทำบุญในการมงคลทั่วไป ไม่ว่าจะทำเพื่อบุคคลหรือบ้านเรือน ตลอดสถานที่ เรือก สวน ไร่ นา ถือว่าเป็นงานมงคล งานนั้นแม้จะมีการกรวดน้ำ พระก็ไม่สวด ติโรกุฑฑสูตรด้วยเป็นงานมงคล แต่ก็สวดพระสูตรอื่นๆ ซึ่งมีระเบียบอยู่โดยเฉพาะแล้ว

. ง านทำบุญอวมงคล คือ งานศพ หรืออัฐิ หรือทำบุญ เคารพถึงคนตายโดยเฉพาะ เช่นทำบุญ ๗ วัน เป็นต้น ในเวลากรวดน้ำ พระสงฆ์จึงสวดติโรกุฑฑสูตร อนุโมทนา ต่อ ยถา สัพพี เว้นพระสูตรอื่นเสีย ด้วยเป็นงานอวมงคล

เ มื่อได้กล่าวถึงการกรวดน้ำแล้ว ก็ควรจะทราบถึงความจำเป็นของการกรวดน้ำเสียด้วย เพราะบางท่านก็มากไป บางท่านก็น้อยไป มักง่ายไปไหนๆ เราก็นิยมการทำบุญกรวดน้ำแล้ว น่าจะศึกษา น่าจะรู้ แล้วทำให้ชอบให้ถูกแก่เรื่อง เพื่อเป็นแบบฉบับสำหรับบุตรธิดาสืบไป

ค วามจริง เราก็ตั้งใจจะทำบุญ และก็ตั้งใจจะอุทิศให้มารดาบิดาหรือบรรพบุรุษ ตลอดญาติมิตร หรือเจ้ากรรมนายเวรทั่วๆไปอยู่ สิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่าง เราจัดหาไว้ได้เรียบร้อย ครบครัน แม้จะจ่ายทรัพย์นับด้วยพันด้วยหมื่นก็ตาม แต่ทำไมถึงจัดภาชนะสำหรับกรวดน้ำสัก ๑ ที่ไม่ได้ ทั้งๆที่เป็นเครื่องจำเป็นต้องใช้ พอถึงคราวกรวดน้ำ ก็วิ่งวุ่น หยิบโน่นคว้านี่ใช้ไปชั่วคราว ซึ่งความจริงแล้ว น่าจะได้ตระเตรียมไว้ทีเดียว อย่างน้อยก็มีแก้วน้ำ มีที่รองรับน้ำกรวดไว้พร้อม ให้สมกับที่เราทำบุญกรวดน้ำน่าชมบางท่าน บางบ้าน บางวัด ได้จัดภาชนะสำหรับกรวดน้ำไว้ประจำ ถึงคราวกรวดน้ำ ก็เรียบร้อย ชอบแก่ขนบธรรมเนียม น่าเลื่อมใส

บ างท่านถึงเวลากรวดน้ำ ก็หลบ เลี่ยงไปหลังเรือนบ้าง หลังศาลาบ้าง ไปกรวดน้ำเสียคนเดียว นี้ก็ไม่ถูก ควรจะกรวดต่อหน้าพระสงฆ์องค์เจ้า ซึ่งท่านก็กำลังจะสวดอนุโมทนา ซึ่งเป็นกำลังช่วยส่งบุญกุศลร่วมกับเรา

บ างท่านก็เรียกบุตรหลาน เครือญาติ มาประชุมกันกรวด นั่งล้อม จับมือ จับแขน จับชายเสื้อ ชายสะใบกันยืดยาว ซึ่งที่ถูกควรจะกรวดน้ำเพียงเจ้าภาพ หรือเจ้าของทานแต่ผู้เดียวเท่านั้น หรือ ไม่ก็ต่างคนต่างกรวด ไม่ใช่รวมกันกรวด

บ างท่านก็ขยันดีทุกอย่าง แต่ไปขี้คร้านหาน้ำกรวด ซ้ำห้ามคนอื่นที่เขาจัดให้ พอใจกรวดแห้ง ไม่กรวดน้ำ และบางท่านก็คว้าเอาแก้วน้ำข้างตัวนั่นแหละ ไม่เลือกว่า จะเป็นน้ำชา กาแฟ เอามาทำเป็นน้ำกรวดก็ได้ นี้ก็ง่ายมากไป ไม่ควรเลย เพราะง่ายอย่างนี้เอง จึงมีคนเผลอคว้าเอาแก้วน้ำเหล้ามาทำน้ำกรวดขึ้น กลายเป็นขบขันและน่าสังเวชใจอย่างยิ่ง เรื่องของบุญก็กลายรูปเป็นบาปไป เช่นนี้แล้ว ไม่ทำเสียดีกว่า ดังนั้นจึงควรสังวร โดยเตรียมจัดหาไว้ให้พร้อม เพราะน้ำที่กรวดจะต้องเป็นน้ำบริสุทธิ์ สะอาด เรื่องน้ำแม้จะเล็กน้อยก็จริง แต่เป็นความสำคัญของเรื่องที่เรามุ่งหมาย จึงควรทำให้เรียบร้อย ประณีต สมกับความตั้งใจอันเป็นกุศลของเรา

เคยมีผู้ถามข้าพเจ้าว่า การทำบุญจะไม่กรวดน้ำไม่ได้หรือ? ค วามจริง ก็ไม่มีผู้ใด หรือกติกาข้อไหนบังคับไว้เลย เป็นสิทธิของผู้ทำบุญทุกอย่าง การกรวดน้ำเป็นอัธยาศัยของผู้ทำบุญต่างหาก เมื่อตั้งใจจะทำบุญให้ผู้ใด ก็ต้องกรวดน้ำอุทิศให้ผู้นั้น เพื่อความสำเร็จตามความตั้งใจ แต่ถ้ามุ่งจะทำบุญทำกุศลให้แก่ตัวเราเองโดยเฉพาะ เราก็ไม่ต้องกรวดน้ำให้ใคร เอาเสียคนเดียว โดยนั่งรับพรจากพระสงฆ์ที่พร้อมกันสวดอนุโมทนาอวยพรให้เราจนจบ

การทำเช่นนั้น จะไม่ถูกเขาว่าเราอุตริไปหรือ? ค วามจริง เรื่องห้ามคนว่า ดูเหมือนไม่เคยมีใครทำได้ แม้เทวดา อินทร์ พรหม ก็ห้ามไม่ได้ ยิ่งเราไปเกรงว่า จะถูกนินทาเช่นนั้น เลยไม่ต้องทำอะไร แม้ไม่ทำอะไร อยู่เฉยๆ ก็มิใช่ว่าจะถูกพ้นนินทาว่าร้าย ก็เปล่า เรื่องติ เรื่องชม เป็นเรื่องของเขา ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เรื่องที่เราทำนั้น ชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ ? ค วามจริง เรื่องกรวดน้ำ เป็นสิทธิของคนทำบุญโดยเฉพาะใครจะมาบังคับให้กรวดน้ำ หรือไม่ให้กรวดน้ำไม่ได้ทั้งนั้น ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะบางครั้งข้าพเจ้า เคยเป็นผู้ถวายทาน และก็โดยไม่กรวดน้ำ และเคยเป็นปฏิคคาหกผู้รับทาน ก็เคยไม่ยถา ในเมื่อเจ้าของทานไม่กรวดน้ำ

ป ัญหาก็มีต่อไปว่า การไม่กรวดน้ำ ไม่ลำบาก เพราะเมื่อมุ่งจะทำบุญเพื่อตัวเราโดยเฉพาะ เราก็ไม่กรวด แต่สำหรับพระสงฆ์ผู้รับทาน จะอนุโมทนาอย่างไร เราก็ไม่กรวด แต่สำหรับพระสงฆ์ผู้รับทาน จะอนุโมทนาอย่างไร ความจริงก็ตอบได้อย่างสั้นๆ ว่า พระก็ไม่ยถาเท่านั้น เพราะยถา คู่กับกรวดน้ำโดยสวดอนุโมทนาและอวยพรอย่างเดียว เว้นพระบาลีเสีย ๑ คาถา คือ

ยถา วารีวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ

เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ

ด ้วยคาถานี้ มุ่งแสดงถึงการกรวดน้ำของทายกโดยเฉพาะ ความว่า “ขอผลทาน ที่ทายกให้แต่ที่นี้ เข้าไปสำเร็จประโยชน์สุขแก่ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้ว เหมือนห้วงน้ำเต็มแล้ว ก็พลันไหลไปยังสาครให้เต็ม ฉะนั้นเถิด” ความในคาถานี้บ่งชัดถึงเรื่องกรวดน้ำของทายกที่ประจักษ์อยู่ตรงหน้า โดยแท้

ดังนั้น เมื่อทายกไม่กรวดน้ำ พระสงฆ์ก็ชอบที่จะไม่ยถา โดยสวดบาลีอวยพรทีเดียว คือ สวดบาลีเพียงตอนปลายว่า

อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺห ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ

สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา จนฺโท ปณฺณรโส ยถา.

ซ ึ่งแปลว่า ขอความประสงค์จำนงหมาย และความปรารถนาของท่านที่ตั้งไว้นั้น จงพลันสำเร็จ ขอให้ดำริทุกอย่างของท่านจงบริบูรณ์ เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญเถิด” แล้วสวด สัพพี และอนุโมทนาต่างๆ อนุรูปแก่งานจนจบ

เ มื่อทำชอบด้วยเหตุผลเช่นนี้แล้ว ผู้รู้คนไหนจะตำหนิ พระไม่ ยถา ทายกไม่กรวดน้ำ อย่างนี้ เทวดาก็ชม พรหมก็สรรเสริญ เพราะควรแก่เหตุ ควรแก่เวลา มิใช่ไม่ทำอย่างนั้น เพราะเขลา เพราะคร้าน และเพราะมักง่าย ซึ่งควรจะเป็นเนตติสำหรับอนุชนได้ต่อไป

ส ำหรับเรื่องพระไม่ยถา คือเริ่มอนุโมทนาแต่ อิจฺฉิตํ ก็ดี และทายกไม่กรวดน้ำ คือคอยรับพรจากพระก็ดี นิยมใช้แต่งานมงคล ซึ่งผู้จัดทำ มุ่งทำเป็นส่วนตัวโดยเฉพาะเท่านั้น ส่วนงานอวมงคล คือ งานศพผู้ทำมุ่งทำโดยปรารภถึงญาติมิตรที่ล่วงลับไปก็ดี ปรารภถึงบรรพบุรุษเพื่อสนองพระคุณท่านก็ดี ล้วนเป็นงานที่ต้องกรวดน้ำสิ้นเชิง และพระสงฆ์ก็จะต้องอนุโมทนา ยถา สัพพี และ ติโรกุฑฑสูตร ในอนุรูปแก่งานโดยควรแก่เวลา

เ พราะเรื่องเดิมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระเจ้าพิมพิสาร ก็ทรงปรารถพระเจ้าพิมพิสาร ทรงมีพระประสงค์จะอุทิศพระราชกุศลแก่เปรตทั้งหลาย ที่เป็นพระประยูรญาติของพระองค์เป็นเหตุ เรื่องมีว่า

ใ นปฐมโพธิกาล ครั้งแรกที่พระบรมศาสดาจารย์เสด็จไปประทับยังลัฏฐิวันสถาน ในเขตอุปจารชานเมืองราชคฤห์มหานคร พระเกียรติคุณของพระองค์ฟุ้งขจรไปทั่วทิศ ว่าพระองค์ทรงมีพระจิตบริสุทธิ์ เป็นพระอรหันต์ ทรงพระยอดปรีชาญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงบริบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะพุทธวิสุทธิคุณ ทรงพระเมตตาการุณแก่ประชาสัตว์ ไม่เลือกชั้นวรรณะ สำหรับผู้ปฏิบัติทุกๆเพศ ประกาศธรรมบรรเทากิเลสให้ปรากฏ แม้แต่เหล่าดาบสทั้ง ๓ สำนักใหญ่ๆ ในแคว้นมคธซึ่งมีท่านอุรุเวลกัสสปดาบส เป็นหัวหน้า ก็ยอมตนเข้าเป็นสาวกเข้าศึกษาปฏิบัติในพระธรรมวินัย ทรงประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิผ่องใสไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะทุกประการบัดนี้ เสด็จประทับยังลัฏฐิวันสถานอัปจารพระบุรี พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงโสมนัสยินดีในข่าวสาส์น จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาจารย์ พร้อมด้วยราชบริพาน ๑๒ นหุต เมื่อได้สดับธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็บรรลุซึ่งพระโสดาปัตติผล พร้อมด้วยปริวารชน ๑๑ นหุต เป็นกำหนด อีกนหุตหนึ่งนั้นปรากฏว่า ได้แต่ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย

พ ระเจ้าพิมพิสารได้ทรงตั้งพระทัยจะยกย่องซึ่งพระพุทธศาสนา จึงได้ทูลอาราธนาพระบรมศาสดาและพระสาวก ให้เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ ถวายบิณฑบาตแก่พระโลกเชฏฐ์พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์อรหันต์ และต่อนั้นทรงถวายพระเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม ตามพระราชศรัทธา ครั้นพระบรมศาสดาทรงรับพระเวฬุวันวิหาร แต่ทรงอนุโมทนาวิหารทานแล้ว ก็เสด็จไปประทับยังพระเวฬุวัน ส่วนพระเจ้าพิมพิสารนั้น มิได้ทรงกรวดน้ำอุทิศกุศลผลทานให้แก่ผู้ใด ด้วยมิได้ทรงทราบเหตุ ครั้นเพลาราตรี บรรดาฝูงเปรตที่เป็นพระประยูรญาติในชาติก่อน พากันมาแสดงความเดือดร้อนให้ปรากฏในพระราชสถาน ด้วยร่างกายวิกลวิการน่าสะพึงกลัว เสียงคร่ำครวญลั่นไปทั่วทั้งวังใน พระเจ้าพิมพิสารทรงตกพระทัย เกรงว่าจะเป็นภัยแก่พระราชสมบัติและพระชนม์ชีพ ครั้งรุ่งเช้าก็เร่งรีบเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังพระเวฬุวันวิหาร ถวายเรื่องแด่พระบรมศาสดาจารย์ให้ทรงทราบประพฤติเหตุ ในเรื่องราวของฝูงเปรตเมื่อราตรี ขอให้พระมหามุนีทรงพยากรณ์ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในดวงจิต

ค รั้งนั้น สมเด็จพระธรรมสามิสร จึงตรัสว่า อันตรายใดๆจะบีฑาพระองค์มิได้มี หากแต่ฝูงเปรตที่มาสำแดงกายเมื่อราตรีในปราสาท ล้วนแต่เปรตที่เป็นพระประยูรญาติของมหาบพิตรแต่ชาติก่อนไกล มาด้วยความตั้งใจเป็นกุศลจิต คือว่า มหาบพิตรเป็นญาติ ที่สามารถช่วยให้พ้นทุกข์ได้ โดยคิดว่า มหาบพิตรคงจะอุทิศบุญแบ่งให้เมื่อวันวาน ครั้นมหาบพิตรเสร็จจากงานกุศลถวายทานแล้ว ก็ทรงลืม มิได้ทรงกรวดน้ำให้เปรตทั้งหลายที่มาคอยรับส่วนบุญอยู่ก็เสียใจไม่สมคิด จึงได้พร้อมกันสำแดงกายขอความกรุณาจากมหาบพิตรเมื่อราตรี ขอให้พระองค์ได้ช่วยปรานีช่วยให้พ้นทุกข์ ได้รับความสุขในเร็ววันนี้เถิด

ด ูกรมหาบพิตร โดยปกติ เปรตทั้งหลาย เมื่ออดหยาก ยากเข็ญลำเค็ญ ทุกข์ร้อน ย่อมพยายามหาโอกาสมาสู่เรือนญาติของตน อาศัยอยู่ตามข้างฝาเรือนบ้าง ตามทางสามแพร่ง ทางสี่แพร่งบ้าง ที่แง้มประตูบ้าง โดยคิดว่าตนจะมีส่วนได้บุญจากญาติทั้งหลายอุทิศให้โดยแท้

ค รั้นหมู่ญาติทั้งหลายได้จัดอาหารคาวหวานไว้เพียบพร้อมแล้ว ก็มิได้มีผู้ใดใครผู้หนึ่งระลึกถึงเปรต ซึ่งเป็นญาติที่ล่วงลับไปก่อนนั้น ทั้งนี้เพราะกรรมของเปรตนั้นเป็นปัจจัย

ด ูกรมหาบพิตร โดยปกติญาติที่มีใจเมตตา คิดอนุเคราะห์ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ย่อมจัดข้าว น้ำ สะอาด ประณีต สมควร ทำบุญตั้งจิตอุทิศให้ตามเวลานิยมว่า ขอบุญกุศลนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของเรา ขอญาติทั้งหลายของเราจงเป็นสุขเถิด

เ มื่อเปรตที่เป็นญาติมาประชุมกันรับส่วนบุญอยู่ ณ ที่นั้น พากันอนุโมทนารับส่วนบุญโดยคารวะ ชื่นชมยินดีเห็นใจญาติ และพร้อมกับอวยพรว่า เราได้ความสุขเพราะญาติคนใด ขอญาติคนนั้นจงเป็นสุข มีชีวิตชื่นบานยืนนานเถิด อนึ่ง แม้บุญที่ญาติพากันบำเพ็ญ ยังเป็นผลอำนวยความสุขแก่ผู้บริจาคตลอดกาล

ด ูกรมหาบพิตร ในปรโลกนั้น ไม่มีการทำนา ทำไร่ ไม่มีการเลี้ยงสัตว์ ไม่มีการค้าขาย หาเงินหาทองอย่างในโลกนี้ ผู้ที่ละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมดำรงตนเป็นสุขอยู่ได้ด้วยทาน ที่บำเพ็ญไปแต่โลกนี้เท่านั้น

ด ูกรมหาบพิตรฝนตกลงในที่สูง ย่อมไหลลงไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใดกุศลทานที่บำเพ็ญแต่โลกนี้ ย่อมอำนวยผลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ฉันนั้นห้วงน้ำที่เต็มแล้ว ย่อมลงไปสู่ทะเล ฉันใด กุศลทานที่บำเพ็ญแต่โลกนี้ย่อมอำนวยประโยชน์สุขแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฉันนั้น

ด ูกรมหาบพิตร เมื่อบุคคลมาระลึกถึงความดีของคนที่ล่วงลับไปก่อนแล้วว่า ญาติมิตรของเราคนนั้นๆ ได้เคยให้สิ่งนี้แก่เรา ได้เคยทำสิ่งนั้นให้เรา ก็ควรจะบำเพ็ญทักษิณาทาน เพื่อเปตชนทั้งหลายนั้น

ด ูกรมหาบพิตร การร้องไห้ก็ดี การเศร้าโศกก็ดี การพิรี้พิไร รำพันก็ดี ทั้งหมดนี้ มิได้สำเร็จประโยชน์อันใด แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้วเลย ญาติเหล่านั้นคงดำรงอยู่ตามสถานะของเขาอย่างนั้น

ส่วนทักษิณาทานที่บุคคลตั้งไว้แล้วในพระสงฆ์นี้แล ย่อมสำเร็จประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยฐานะตลอดกาลนาน

อ นึ่ง ญาติธรรมที่ได้ทรงบำเพ็ญแล้วก็ดี การบูชาอันโอฬารที่ได้ทรงประกอบชิ้นก็ดี การทรงเพิ่มให้ซึ่งกำลังแก่ภิกษุสงฆ์ก็ดี ชื่อว่า เป็นบุญใหญ่หลวง ที่มหาบพิตรได้ทรงสั่งสมเพื่อเปตชนทั้งหลายโดยแท้

เ มื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับติโรกุฑฑสูตรพุทธโอวาท ของพระบรมโลกนาถ ก็ทรงโสมนัสเบิกบานพระทัย ทูลอาราธนาสมเด็จพระจอมไตรโลกุตตราจารย์ เสด็จมารับทักษิณาทานที่พระราชนิเวศน์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ แล้วทรงตั้งเจตจำนงน้ำอุทิศกุศลผลทานที่ถวายในบุญเขต ให้แก่บรรดาพระญาติที่เกิดเป็นเปรตน่าเวทนา โดยออกพระวาจาว่า อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ เป็นต้น ในทันใดนั้น อานิสสผลก็บังเกิดเกื้อกูลแกมวลเปรตญาติทั้งหมด เป็นที่น่ายินดี ร่างกายที่วิกลวิการผ่ายผอม ก็อ้วนพี ผ่องใส สมบูรณ์พูนสุขสิ้นทุกข์ร้อน บริบูรณ์ด้วยทิพย์วัตถาภรณ์เครื่องใช้ทุกประการ ด้วยเดชแห่งผลทานที่พระเจ้าพิมพิสารอุทิศให้ ทั้งสมเด็จพระจอมไตรก็ทรงอธิษฐาน ให้พระเจ้าพิมพิสารมหาราชแห่งแคว้นมคธ ทรงทอดพระเนตรพระประยูรญาติทั้งหมด มีความสุขสมบูรณ์ด้วยกันทั่วหน้า พ้นจากเปรตน่าเวทนาเมื่อราตรี ท้าวเธอก็มีความยินดีเป็นที่ยิ่ง ด้วยอานุภาพของกุศลทุกสิ่งที่ทรงบำเพ็ญ เป็นคุณดับความรำเค็ญทั้งภพนี้และภพหน้า จึงน้อมพระเศียรถวายบังคมพระบรมศาสดาแทบพระยุคลบาท ทูลความเลื่อมใสในพระโอวาททุกประการ สิ้นความตามพระพุทธบรรหาร ในติโรกุฑฑสูตรแต่เพียงนี้ .

————————————

(บรรยาย ๘ มีนาคม ๒๕๐๐)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น