วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

อาทิตตปริยายสูตร

อ าทิตตปริยายสูตร เป็นสูตรสำคัญสูตรหนึ่ง ทั้งเป็นสูตรที่ ๓ ถัดจากมธรรมจักกัปปวัตตนสูตรและอนัตตลักขณะสูตร ลงมา ที่ว่าเป็นสูตรสำคัญ ก็ด้วยเหตุว่า อานุภาพของพระสูตรนี้ได้บันดาลชฎิล ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของมหาชน ในโกศลรัฐ และมคธรัฐเป็นอันมาก ให้บรรลุพระอรหัต และยังได้พระอรหันต์ ๑,๐ ๐๐ องค์นั้น เป็นกำลังยังความปรารถนาอันใหญ่หลวง ในการจะประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในแคว้นมคธรัฐ อันเป็นการใหญ่ยิ่ง ให้สำเร็จได้สมมโนรถของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

อ าทิตตปริยายสูตรนี้ เฉพาะพระบาลีพระสงฆ์นิยมสวดในพิธีทำบุญ ๕๐ วัน สำหรับงานศพ เพราะนอกจากงานศพแล้ว ตามบ้านเรือนไม่นิยมสวดกัน ปรกติมีแต่สวดในวัด ความจริง พระสูตรนี้เป็นธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่ผู้มีจิตอันได้รับค วามอบรมมาพอสมควรก่อนแล้ว ดังนั้น อาทิตตปริยายสูตร จึงเป็นธรรมชั้นสูง ควรแก่ผู้สนใจในธรรมจะพึงสดับ

ดังนั้น จะได้บรรยายถึงความเป็นมาของพุทธมนต์บทนี้ พอเป็นเครื่องเจริญศรัทธาสัมมาปฏิบัติของพุทธบริษัทสืบไป เรื่องมีว่า

เ มื่อพระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกทั้งหลายไปประกาศพระศาสนาแล้ว ก็เสด็จตรงไปยังอุรุเวลประเทศ อันตั้งอยู่ในเขตเมืองราชคฤห์มหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่ของอุรุเวลกัสสป อาจารย์ใหญ่ของชฎิล ๕๐๐

ร าชคฤห์นครนั้น เป็นเมืองหลวงแห่งมคธรัฐ ซึ่งเป็นมหาประเทศ พระเจ้าพิมพิสารมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองโดยสิทธิขาด เป็นเมืองที่คับคั่งด้วยผู้คน เจริญวิทยาความรู้ ตลอดการค้าขาย เป็นที่รวมอยู่แห่งบรรดาคณาจารย์ เจ้าลัทธิมากในสมัยนั้น

ใ นบรรดาคณาจารย์ใหญ่ๆ นั้น ท่านอุรุเวลกัสสป เป็นคณาจารย์ใหญ่ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นอันมาก ท่านอุรุเวลกัสสป เป็นนักบวชจำพวกชฎิล ท่านมีพี่น้องด้วยกัน ๓ คน ออกบวชจากตระกูลกัสสปะโคตร ท่านอุรุเวลกัสสปเป็นพี่ชายใหญ่ มีชฎิล ๕๐๐ เป็นบริวาร ตั้งอาศรมสถานที่พนาสณฑ์ ตำบลอุรุเวลา ต้นแม่น้ำเนรัญชรานที ตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสป น้องคนกลางมีชฎิลบริวาร ๓๐๐ ตั้งอาศรมสถานอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ถัดเข้าไปอีกตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่า นทีกัสสป ส่วนน้องคนเล็ก มีชฎิลบริวาร ๒๐๐ ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งใต้แห่งแม่น้ำเนรัญชรานั้นต่อไปอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งมีนามว่า ตำบลยาสีสะประเทศ จึงได้นามว่า คยากัสสป ชฎิลคณะนี้ทั้งหมด มีทิฐิหนักในการบูชาเพลิง

พ ระบรมศาสดาเสด็จไปถึงอาศรมสถานของท่านอุรุเวลกัสสปในเวลาเย็น จึงเสด็จตรงเข้าไปพบอุรุเวลกัสสปทันที ทรงรับสั่งขอพักแรมด้วยสัก ๑ ราตรี อุรุเวลกัสสปรังเกียจ ทำอิดเอื้อน ไม่พอใจให้พักเพราะเห็นพระบรมศาสดาเป็นนักบวชต่างจากลักธิของตน พูดบ่ายเบี่ยงว่าไม่มีที่ให้พัก ครั้นพระบรมศาสดาตรัสขอพักที่โรงไฟ ซึ่งเป็นสถานที่บูชาเพลิงของชฎิล ด้วยเป็นที่ว่าง ไม่มีชฎิลอยู่อาศัย ทั้งเป็นที่อยู่ของนาคราชดุร้ายด้วย อุรุเวลกัสสปได้ทูลว่า พระองค์อย่าพอใจพักโรงไฟเลย ด้วยเป็นที่อยู่ของพญานาคมีพิษร้ายแรงทั้งดุร้ายที่สุดอาศัยอยู่ จะได้รับความเบียดเบียนจากนาคราชนั้นให้ถึงอันตรายแก่ชีวิต เมื่อพระบรมศาสดารับสั่งยืนยันว่า นาคราชนั้นจะไม่เบียดเบียนพระองค์เลย ถ้าท่านอุรุเวลกัสสปจะอนุญาตให้เข้าอยู่ ท่านอุรุเวลกัสสปจึงได้อนุญาตให้เข้าไปพักแรม

ล ำดับนั้น พระผู้มีพระภาคก็เสด็จเข้าไปยังโรงไฟนั้น ประทับนั่งดำรงพระสติต่อพระกัมมัฏฐานภาวนา ฝ่ายพญานาคเห็นพระบรมศาสดาเสด็จเข้ามาในที่นั้น ก็มีจิตคิดขึ้งเคียดพ่นพิษตลบไป ในลำดับนั้นพระบรมศาสดาทรงพระดำริว่า ควรที่ตถาคตจะแสดงอิทธานุภาพให้เป็นควันไปสัมผัสมังสะฉวีและเอ็นอัฐิแห่งพญา นาคนี้ ระงับเดชพญานาคให้เหือดหาย แล้วก็ทรงสำแดงอิทธาภิสังขารดังพระดำรินั้น พญานาคมิอาจจะอดกลั้นความพิโรธได้ ก็บังหวนพ่นพิษเป็นเพลิงพลุ่งโพลงขึ้นพระบรมศาสดาก็สำแดงเตโชกสิณสมาบัติ บันดาลเปลวเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการและเพลิงทั้งสองฝ่ายก็บังเกิดแสงแดดสว่าง ดุจเผาผลาญซึ่งโรงไฟนั้นให้เป็นเถ้าธุลี ส่วนชฎิลทั้งหลายก็แวดล้อมรอบโรงไฟนั้น ต่างเจรจากันว่า พระมหาสมณะนี้สิริรูปงามยิ่งนัก เสียดายที่เธอมาวอดวายเสียด้วยพิษแห่งพญานาคในที่นี้

ค รั้นล่วงสมัยราตรีรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็กำจัดฤทธิ์พญานาคให้อันตรธานหาย บันดาลให้นาคนั้นขดกายลงในบาตร แล้วทรงสำแดงแก่อุรุเวลกัสสป ตรัสบอกว่า พญานาคนี้สิ้นฤทธิ์แล้ว อุรุเวลกัสสปเห็นดังนั้นก็ดำริว่า พระสมณะนี้มีอานุภาพมาก ระงับเสียซึ่งฤทธิ์พญานาคใหัอันตรธานพ่ายแพ้ไปได้ ถึงดังนั้นไซร้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา แต่มีจิตเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ จึงกล่าวว่า ข้าแต่สมณะ นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ ณ อาศรมของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะถวายภัตตาหารให้ฉันทุกวันเป็นนิตย์

นับแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจากป่าอิสิปตนมิคทายวัน ในวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนกัตติกมาส(เดือน๑๒) ม าประทับอยู่ที่อุรุเวลประเทศจนตราบเท่าถึงวันเพ็ญเดือน ๒ เป็นเวลา ๒ เดือน ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ทรมานอุรุเวลกัสสปโดยอเนกประการ อุรุเวลกัสสปก็ยังมสันดานกระด้าง ถือตนว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อย่างนั้นด้วยทิฐิกล้ายิ่งนัก จึงทรงพระดำริว่า ตถาคตจะยังชฎิลให้สลดจิตคิดสังเวชตนเอง จึงมีพระวาจาตรัสแก่อุรุเวลกัสสปว่า กัสสป ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ทั้งทางปฏิบัติของท่านก็ยังห่างไกล มิใช่ทางมรรคผลอันใดไฉนเล่าท่านจึงสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ เท็จต่อตัวเอง ทั้งๆที่ท่านเองก็รู้ตัวดีว่า ตัวมิได้บรรลุโมกขธรรมอันใด ยังทำตนลวงคนอื่นเป็นพระอรหันต์อยู่อีก กัสสป ถึงเวลาอันควรแล้ว ที่ท่านจะสารภาพแก่ตัวของท่านเองว่า ท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังมิได้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอรหันต์ด้วย กัสสปแล้วท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ในกาลไม่นาน เมื่ออุรุเวลกัสสปได้สดับพระโอวาท รู้สึกตัว ละอายแก่ใจ ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาทแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระองค์ ขอถึงพระองค์และพระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง

พ ระบรมศาสดาตรัสว่า “กัสสป ตัวท่านเป็นอาจารย์ยิ่งใหญ่ เป็นประธานแก่หมู่ชฎิล ๕๐๐ ท่าน จงชี้แจงให้ชฎิลบริวารยินยอมพร้อมกันก่อน แล้วตถาคตจึงจะให้บรรพชาอุปสมบท” อุรุเวลกัสสปก็กราบถวายบังคมลามายังอาศรม แล้วก็บอกชฎิลอันเป็นศิษย์ๆ ก็ยินยอมพร้อมกันจะบรรพชาในสำนักพระบรมครูสิ้น แล้วชฎิลทั้งหลายก็ชวนกันลอยดาบสบริขาร และเครื่องตกแต่งผม และชฏา สาแหรก คาน เครื่องบูชาเพลิง ทั้งน้ำเต้า หนังสือ ไม้สามง่าม ในแม่น้ำทั้งสิ้น แล้วก็พากันมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาท ทูลขอบรรพชาอุปสมบทสมเด็จพระบรมสุคตาก็ทรงพระกรุณาโปรดประทานอุปสมบทด้วยเอห ิภิกขุอุปสัมปทาเสมอกัน

ครั้งนั้น ท่านนทีกัสสป ผู้เป็นน้องกลาง เห็นเครื่องบริขารทั้งปวงลอยน้ำมา ก็ดำริว่า ชะรอยอันตรายจะมีแก่ดาบสผู้พี่ชาย จึงใช้ชฎิล ๒-๓ คน อันเป็นศิษย์ไปสืบดูรู้เหตุแล้ว นทีกัสสปก็พาดาบสทั้ง ๓๐๐ อันเป็นศิษย์มาสู่สำนักอุรุเวลกัสสป ถามเหตุนั้น ครั้นทราบความแล้วก็เลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องดาบสบริขารลงในแม่น้ำนั้น พากันถวายอัญชลีทูลขอบรรพชา พระบรมศาสดาก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งสิ้น ดุจพวกก่อน

ฝ ่ายคยากัสสป ผู้เป็นน้องน้อย เห็นเครื่องดาบสบริขารของพี่ชายลอยน้ำมา จำได้ ก็คิดดุจนทีกัสสปผู้เป็นพี่นั้น แล้วพาดาบสส ๒๐๐ อันเป็นศิษย์ไปสู่สำนักอุรุเวลกัสสป ไต่ถามทราบความแล้ว เลื่อมใสชวนกันลอยเครื่องบริขารลงในกระแสน้ำดุจหนหลัง แล้วก็เข้าทูลขอบรรพชาต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้าทรงทรมานชฎิลทั้ง ๓ พี่น้อง ที่อุรุเวลกัสสป เป็นต้น กับทั้งชฎิลบริวาร ๑,๐ ๐๐ ให้สละเสียซึ่งทิฐิแห่งตนแล้วโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น เสร็จแล้วก็ทรงพาพระภิกษุสงฆ์พวกนั้นไปสู่คยาสีสะประเทศ ตรัสพระธรรมเทศนาอาทิตตปริยายสูตร โปรดภิกษุ ๑,๐๐๐ นั้นว่า

ภ ิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน อะไรเล่า ชื่อว่า สิ่งทั้งปวง จักษุ คือนัยน์ตา รูป วิญญาณอาศัยจักษุสัมผัส คือ ความถูกต้องอาศัยจักษุ เวทนาที่เกิดเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย คือ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์บ้าง หมวด ๑. โสตะ คือ หู เสียง วิญญาณอาศัยโสตะ สัมผัสอาศัยโสตะ เวทนาที่เกิดเพราะโสตะสัมผัสเป็นปัจจัย หมวด ๑. ฆานะ คือ จมูก กลิ่น วิญญาณอาศัยฆานะ สัมผัสอาศัยฆานะ เวทนาที่เกิดเพราะฆานะสัมผัสเป็นปัจจัย หมวด ๑. ชิวหา คือ ลิ้น รส วิญญาณอาศัยชิวหา สัมผัสอาศัยชิวหา เวทนาที่เกิดเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย หมวด ๑. กาย โผฏฐัพพะ คือ อารมณ์ที่ถูกต้องด้วยกาย วิญญาณอาศัยกาย สัมผัสอาศัยกาย เวทนาที่เกิดเพราะการสัมผัสเป็นปัจจัย หมวด ๑. มนะ คือ ใจ ธรรม คือ อารมณ์ที่เกิดกับใจ วิญญาณอาศัยมานะ สัมผัสอาศัยมนะ เวทนาที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย หมวด ๑. ชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร? อ ะไรมาเผาให้ร้อน ร้อนเพราะไฟ คือความกำหนัด ความโกรธ ความหลง ร้อนเพราะความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ร่ำไรรำพัน เจ็บไข้ เสียใจ คับใจ เรากล่าวว่า ไฟกิเลส ไฟทุกข์ เหล่านี้มาเผาให้ร้อน ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ใดฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งปวงนั้น ตั้งแต่ในจักษุ จนถึงเวทนาที่เกิด เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยเป็นที่สุด เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมปราศจากกำหนัดรักใคร่ เพราะปราศจากกำหนัดรักใคร่ จิตก็พ้นจากความถือมั่น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็เกิดญาณรู้ได้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกทั้งหลายทราบชัดว่า ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้วกิจที่จำต้องทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอยู่อย่างนี้ไม่มี

เ มื่อพระศาสดาตรัสพระธรรมเทศนานี้อยู่ จิตของภิกษุเหล่านั้น พ้นจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จพระอรหันต์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์พระอรหันต์ บังเกิดขึ้นในโลกอีก ๑,๐๐๐ เป็นกำหนด ด้วยอานุภาพพระพุทธพจน์แห่งอาทิตตปริยายสูตร พุทธมนต์คาถา ยุติบรรยายลงด้วยเวลาเพียงเท่านี้ .

————————————-
(บรรยาย ๒ ตุลาคม ๒๕๐๐)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น