วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ชัยมงคลที่ ๒

ตำนานชัยมงคลที่ ๒

ใ นสมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับสำราญพระกายอยู่ในพระเชตวันวิหาร ทรงอาศัยพระนครสาวัตถึเป็นที่โคจรภิกษาจาร บำเพ็ญพุทธกิจตามพุทธวิสัย ยังมรรคผลให้สำเร็จแก่พุทธเวไนยนิกร ทรงสถาพรเพิ่มพิริยพรตแก่พุทธบุตรผู้ปฏิบัติสันติวรบทตามแนวมรรคปฏิปทา ทรงเผยแผ่เกียรติคุณพระศาสนาให้รุ่งเรืองไพศาลพิศิษฐ์ ดังโอภาสแห่งดวงอาทิตย์อุทัยยังนภาลัยประเทศ ให้ประชาสัตว์ตื่นจากสรรพกิเลสนิทราไม่งมงายแสวงหามรรคผลในทางผิด เสมือนหนึ่งหลับตาคว้าอสรพิษให้ขบกัดเข้าเต็มมือ ประชาชนจึงเคารพนับถือเป็นเอนกด้วยเห็นพระศาสนาเป็นมรรคาเอกอันควรดำเนิน เพราะเป็นคุณเครื่องจำเริญประโยชน์สุขสวัสดีทั้งภพนี้และภพหน้า

ค รั้งนั้น พระเจ้าอาฬวี กษัตริย์แห่งอาฬวีนคร พระองค์ไม่ทรงสังวรในปิฬะกรีธา แสวงหาความสนุก ความรื่นเริงด้วยการล่าสัตว์ป่า เพื่อแสดงให้เหล่าโยธาเห็นว่า ยังทรงสามารถในฝีพระหัตถ์ แม่นธนูและหอกซัด ทั้งชำนาญในการขับขี่กัณฐัฏอัสวราช ยากที่จะหาผู้สามารถเสมอได้ ไม่ทรงเห็นเป็นภัยเป็นเวรกรรมที่จะมีผลเดือนร้อนในภายหลัง ตั้งพระทัยแต่จะหาความสำราญถ่ายเดียว

ว ันหนึ่ง ขณะที่พระเจ้าอาฬวีกำลังร่าเริงด้วยการปล่อยลูกธนูออกจากแล่งล้างชีวิตสัตว์ ที่กลัวตาย ตะเกียกตะกายวิ่งวนอยู่ในวงล้อมของเหล่าทหารทั้งหลาย ทันใดนั้น พระองค์ก็ทรงแลเห็นกวางทองงามน่ารักทำท่าตื่น เบิ่งหน้า หาทางหนีอยู่ ก็ทรงลดธนูคู่พระหัตถ์ลง พร้อมกับรับสั่งด้วยพระสุรเสียงดังสนั่นว่า ทหารทั้งหลาย เห็นกวางทองไหม ? ก วางทองตัวนี้งามมาก ดูเหมือนนับแต่พวกแกกับฉันเริ่มหาความสำราญในการล่าสัตว์มา ยังไม่เคยพบกวางทองที่งามจับตาน่ารักถึงเพียงนี้ ดังนี้ ฉันต้องการจับเป็น จะเอาไปเลี้ยงในอุทยาน ขอให้เตรียมตัวจับ ระวังอย่าให้กวางทองหนีไปได้ หากปรากฏว่า กวางทองหนีไปทางทหารคนใด เราจะเอาโทษหนักแก่ทหารคนนั้น

เ มื่อทหารได้ฟังพระกระแสรับสั่ง ต่างก็กลัวต้องโทษ พากันรักษาหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เตรียมตัวจับกวางทองไว้อย่างมั่นเหมาะ หากว่ากวางทองจะหนีมาทางตนแล้ว ก็จะไม่รอดมือไปได้ ทันใดนั้นเอง เมื่อกวางทองหาช่องทางที่เหมาะ ในอันที่จะหนีออกจากวงล้อมในหมู่ทหารไม่ได้ ก็เลี่ยงมาทางพระเจ้าอาฬวี ด้วยเห็นมีทางว่างพอที่จะเผ่นหนีออกได้และพร้อมกันนั้นก็วิ่งหนีไปเฉพาะพระพ ักตร์ ทวยทหารที่กำลังล้อมก็โล่งใจ สิ้นเคราะห์ และหัวเราะเยาะพระเจ้าอาฬวีที่ไม่สามารถจับกวางทองได้ พระเจ้าอาฬวีละอายพระทัย ก็ทรงขับม้าพระที่นั่งออกไล่ติดตามอย่างไม่ลดละ ด้วยทรงพระดำริว่า หากได้จังหวะก็จะจับตาย โดยใช้ธนูคู่พระแสงสังหารเสีย แต่เคราะห์กรรม บังเอิญกวางทองนั้น เป็นเทพเจ้าปลอมแปลงเสร้งทำวิ่งล่อพระเจ้าอาฬวีให้ติดตามเข้าดงใหญ่ วิ่งล่อให้ตามไปจนสิ้นกำลังม้า พระเจ้าอาฬวีทิ้งม้าพระที่นั่งเสีย ทรงวิ่งขับด้วยพระบาท โดยแน่พระทัยว่า กวางทองก็ดูทีจะหมดกำลังเหมือนกับม้าแล้ว พระเจ้าอาฬวีวิ่งตามกวางไปอีกครู่ใหญ่ก็หมดกำลัง หมดหวัง หมดอยากได้อยากดี และในทันทีนั้น กวางทองก็หลบลี้หายวับไปกับตา พระเจ้าอาฬวีทรงล้า กระปรกกระเปลี้ย ก้าวพระบาทออกแต่ละก้าวอย่างอิดโรยและคร้านที่จะก้าวไป ดังนั้น พอเสด็จกลับได้หน่อยเดียว ทรงเหลียวเห็นต้นไทรใหญ่ตระการ มีกิ่งก้านใบหนาแน่น ร่มระรื่น พื้นดินที่โคนต้นก็ราบเรียบ เตียนโล่ง โปร่งนัยน์ตา น่าพักเอาแรง พระองค์จึงเสด็จเข้าไปประทับระงับพระกาย ทรงหลับลงอย่างรวดเร็วด้วยความอ่อนเพลีย

ม ิทันที่พระเจ้าอาฬวีจะทรงได้ความสุขจากการบรรทมหลับอย่างเต็มตื่น ตามที่ตั้งพระทัยไว้แต่แรกระงับพระกาย ก็ต้องพลันผวาตื่น ด้วยตกพระทัยสดุ้งจากสุรสำเนียงเสียงตวาดของอาฬวกยักษ์ดังลั่นสนั่นป่า ประหนึ่งเสียสายฟ้าฟาดลงมาข้างพระกาย ทรงผุดลุกขึ้นพร้อมกับลืมพระเนตรมาทางเสียงแผดนั้น และก็พลันประสบหน้าอาฬวกยักษ์ที่ทะมึงทึง แสดงว่าเป็นมารต่อพระชนมชีพของพระองค์ ก็สะดุ้งกลัวจนสุดขีด เหลียวหาทหารที่จะเป็นเพื่อนตายก็ไม่มีแม้แต่คนเดียว จะหนีก็ไม่พ้น ถ้าพระองค์สามารถดำดินหนีได้ขณะนี้ ก็คงไม่รอหน้าประสานกับยักษ์ร้ายตนนี้เป็นแน่ ความกลัวได้กดพระกายพระเจ้าอาฬวีให้ติดอยู่กับพื้นดิน ไม่มีแรงที่จะลุกยืนประจัญภัยเฉพาะหน้า เมื่ออาฬวกยักษ์ก็แจ้งให้พระองค์ทราบว่าภายในบริเวณนี้ เขาได้รับสิทธิเป็นพิเศษจากพระอิศวรเทพเจ้า ใครเข้ามาจะต้องตกเป็นอาหาร ดังนั้น เขาจึงเป็นผู้มีโชค โดยจะได้กินเนื้อพระเจ้าอาฬวีในวันนี้

ถ ้อยคำของอาฬวกยักษ์ได้เพิ่มความกลัวตายให้พระเจ้าอาฬวีเป็นทวีคูณ ในขณะที่อาฬวกยักษ์บอกว่าจะกินอาหาร แต่เป็นด้วยความวิบัติของพระองค์ยังไม่ถึงแก่ชีวิต ทำให้พระองค์คิดผ่อนผันได้ จึงปราศรัยขอถ่ายชีวิตพระองค์ โดยจะส่งคนมาให้เป็นอาหารอาฬวกยักษ์วันละ ๑ คน ในเมื่อปล่อยให้พระองค์กลับพระนครโดยสวัสดี อาฬวกยักษ์ก็พอใจในรายได้อันดีประจำวันเช่นนั้น จึงตกลงปล่อยให้พระเจ้าอาฬวีกลับพระนครตามพระประสงค์

เ มื่อพระเจ้าอาฬวีกลับพระนครแล้ว ก็ประชุมเสนาอำมาตย์ เล่าเรื่องที่ขอถ่ายชีวิตกับยักษ์มา ในที่สุดก็ให้จัดส่งนักโทษในเรือนจำไปให้อาฬวกยักษ์ตามสัญญา วันละ ๑ คน ครั้นต่อมา คนในเรือนจำหมดแม้จะเอาทองคำไปตั้งไว้ให้คนขโมย เพื่อจะได้จับเอาเป็นนักโทษส่งไปให้อาฬวกยักษ์ ก็ปรากฏว่าไม่มีใครจะขโมย หาคนหยิบฉวย ฉก ลัก ไม่ได้ แม้ในโทษเรื่องอื่นก็สุดหา เรือนจำว่างนักโทษเป็นประวัติการณ์ เมื่อจำเป็นเข้าว อำมาตย์ก็ต้องแก้ไขช่วยชีวิตพระมหากษัตริย์ไว้ก่อน โดยส่งเด็กเล็กที่ยังทำประโยชน์อะไรไม่ได้ ทำนองส่งคนว่างงานไปให้ยักษ์กินวันละคนเหตุการณ์ได้ทำให้เกิดความวุ่นวาย ในระหว่างบิดามารดาของบุตรทุกคนต่างก็คิดอุบายถ่ายเท โดยจัดส่งลูกๆของตนไปอยู่เมืองอื่นๆ เพื่อปลอดภัย ในเมื่อเจริญวัยทำงานได้แล้ว จึงให้กลับ ในที่สุดเด็กหมดอีกครั้นวันสุดท้ายหาเด็กอื่นไม่ได้ อำมาตย์ก็ต้องให้จับอาฬวีราชกุมาร โอรสของพระเจ้าอาฬวีในเวลาเย็น เตรียมตัวส่งไปในวันรุ่งขึ้น แม้จะเป็นการบีบคั้นจิตใจของพระมหากษัตริย์และพระมเหสีอย่างหนัก ก็ต้องจำทำเพราะทำเพื่อพระมหากษัตริย์นั้นโดยแท้

ใ นราตรีวันนั้น พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแผ่พระญาณดูสัตว์ผู้ควรจะทรงพระกรุณาโปรด ก็ประจักษ์เหตุอันสมควรที่จะเสด็จด้วยพระมหากรุณา เพื่อระงับทุกข์ภัยทั้งหลาย ดังนั้น ในเวลาเย็นที่อาฬวีราชกุมารถูกจับ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปที่วิมานอาฬวกยักษ์โดยลำพังพระองค์เดียว ขณะนั้น อาฬวกยักษ์ไม่อยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเข้าไปประทับ ณ แท่นที่นั่งของอาฬวกยักษ์ บรรดายักษ์และยักษิณีทั้งหลายได้มาเฝ้าถวายปฏิสันถารพระพุทธองค์ผู้พร้อมหน้ า

ค รั้นอาฬวกยักษ์กลับมาถึงวิมานในราตรีนั้น เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็โกรธ ด้วยมานะทิฏฐิแรงกล้า เห็นไปว่าพระสมณโคดมมาลบหลู่หมิ่นเกียรติของตน แทนที่จะค่อยพูดค่อยจาถามไถ่ถึงเหตุที่มาถึงที่อยู่ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของ กลับโอหังตึงตังเข้าใส่พระบรมศาสดา ถึงกับใช้อาวุธร้ายแรง ตามสันดานของพวกอสูรที่ไร้คุณธรรม หากแต่ด้วยพุทธานุภาพ อาวุธทุกชนิดที่อาฬวกยักษ์ใช้ไปไม่เป็นผล กลายเป็นเครื่องสักการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าเสียสิ้น ในที่สุดยักษ์ก็หมดฤทธิ์ หมดเดช หยุดราวี เพียงแต่ใช้วาจาเรียกพระบรมศาสดาให้ลุกออกมาจากวิมานของตนเสีย

ค รั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพระกรุณาทำตามประสงค์ของอาฬวกยักษ์ คือจะให้ลุกก็ทรงลุก จะให้ออกก็เสด็จออก จะให้เข้า ก็เสด็จเข้า จะให้นั่งที่ใด ก็ประทับนั่งให้ตามประสงค์ ทำให้หัวใจอาฬวกยักษ์ผ่อนโหดร้ายลง ในที่สุดอาฬาวกยักษ์ได้ทูลถามปัญหา พระบรมศาสดาได้ทรงพยากรณ์แก้ปัญหา ให้อาฬวกยักษ์เกิดปัญญาเห็นแจ้งในธรรม สิ้นความโหดร้าย ตั้งอยู่ในภูมิโสดาปัตติผล ถวายตนลงเป็นทาสพระรัตนตรัยตั้งมั่นอยู่ในอริยธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทรมานอาฬวกยักษ์ตั้งแต่ย่ำค่ำจนรุ่งราตรี จึงสามารถยั้งน้ำใจอาฬวกยักษ์ให้ยินดีในอริยธรรมตามพระพุทธประสงค์ในเช้าวัน นั้น ก็พอดีราชบุรุษพระนครอาฬวีอุ้มเอาพระราชกุมารโอรสของพระเจ้าอาฬวี มาให้อาฬวกยักษ์กินเป็นอาหาร อาฬวกยักษ์รับเอาพระราชกุมารแล้ว ก็น้อมเข้าถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมกับกราบทูลว่า ข้าพระองค์ขอถวายพระราชกุมารน้อย ซึ่งพระเจ้าอาฬวีส่งมาเป็นอาหารของข้าพระองค์ ด้วยข้าพระองค์เว้นขาดจากเบญจเวรสิ้นเชิงแล้ว

พ ระบรมศาสดาทรงรับพระกุมาร แล้วตรัสอนุโมทนาแก่อาฬวกยักษ์ และทรงอวยพรแก่พระราชกุมาร พร้อมกับประทานคืนให้อำมาตย์นำพระราชกุมารกลับพระนคร เพื่อถวายพระเจ้าอาฬวี ครั้นอำมาตย์นำพระราชกุมารกลับนคร เกียรติศัพท์เกียรติคุณพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฟุ้งขจรไปทั่วว่า พระองค์ทรงพระกรุณาเสด็จมาระงับภัยพิบัติแก่พระนครอาฬวี ชาวเมืองทั้งสิ้นต่างก็มีความปิติยินดี พากันจัดเครื่องสักการะต่างๆนำไปบูชา ขณะนั้น พระบรมศาสดาทรงพระกรุณา พาอาฬวกยักษ์มาพระนครอาฬวี พอถึงสถานที่ครึ่งทางสัญจร ก็พบชาวพระนคร มีพระเจ้าอาฬวีเป็นประมุข น้อมนำสักการะมาเฝ้าถวายอภิวาท สมเด็จพระบรมโลกนาถก็ทรงหยุดประทับรับสักการบูชา พร้อมกับทรงพระกรุณาประทานพระธรรมเทศนาโปรด ให้ชาวเมืองเห็นทุกข์เห็นโทษในเบญจกรรม และทรงให้ชาวพระนครตั้งอยู่ในกัลยาณธรรม ตามสมควรแก่วิสัย ประทานธรรมให้เป็นสมบัติทั่วไปแก่ชาวนครอาฬวี ปลุกให้เกิดความเมตตาปรานีกันทั่วหน้า ทั้งให้ชาวเมืองนับถือบูชาอาฬวกยักษ์ ประหนึ่งว่า เป็นเทพารักษ์หลักพระนคร ครั้นประทานธรรมคุณากรสิ้นเสร็จ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จนิวัตนาการ กลับคืนพระเชตวันมหาวิหาร เสด็จประทับเสวยความสำราญในธรรมสืบมา สิ้นข้อความพรรณาในชัยมงคลที่ ๒ แต่เพียงนี้

ต นฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ ด้วยพระเดชแห่งพระขันติคุณ ที่พระบรมศาสดาทรงอดทนต่อความทารุณของพวกอาฬวกยักษ์ร้ายเหลือประมาณ กับพระวิริยคุณและพระปัญญาคุณ ที่ทรงอภินิหารทรมานพยศของอาฬวกยักษ์ได้ดวงตาแจ่มใสในธรรมวิเศษ เป็นชัยมงคลที่เกิดจากธรรมเดชของพระบรมศาสดา ขอชัยมงคลดังพรรณนามา จงมีแก่พุทธศสานิกบริษัทตามสมควรแก่วิสัยจนทั่วถ้วนทุกคน ขอยุติข้อความในชัยมงคลที่ ๒ แต่เพียงนี้ ฯ

——————————–

คติธรรม

คนต่างคน เพราะกรรม ทำต่างกัน

แม้กรรมนั้น ต่างครั้ง ยังต่างผล

เพราะความคิด คนละอย่าง ต่างใจตน

คนหนึ่งทน คนหนึ่งคร้าน ผิดกันไกล.

ธรรมสาธก”

(บรรยาย ๒๕ สิงหาคม ๒๔๙๘)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น