วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ชัยมงคลที่ ๑

ตำนานชัยมงคลที่ ๑

ัยมงคล แปลว่า ความชนะ อันเป็นมงคลของพระพุทธเจ้า หรือ มงคลอันเกิดแต่ชัยชนะของพระพุทธเจ้า เป็นความชนะเลิศ ด้วยไม่รู้จักแพ้ ชนะตลอดกาล

ความจริง ความชนะ ทั้งหลายในโลกนี้ มีหลายประการ ล้วนเป็นการทำลายล้างศัตรูคู่แข่งขัน ด้วยกำลัง อาวุธ ทรัพย บริวาร และ อำนาจ เป็นต้น ทำให้ผู้แพ้ ตลอดญาติมิตรของผู้แพ้เจ็บแค้น ผูกอาฆาตพยายามหาโอกาสรวมกำลังมาต่อสู้แก้แค้นอีก บางครั้งก็กลับชนะทำผู้ชนะเดิมให้กลับแพ้ได้ ความชนะนั้น จึงเป็นความชนะที่ไม่เด็ดขาดทั้งทำเขาให้เดือดร้อน และเพราะเหตุนั้น ความชนะนี้ จึงไม่เป็นมงคล คือไม่ได้รับยกย่องว่า เป็นชัยมงคล

ส่วนการชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นความชนะที่ทรงได้รับด้วยคุณธรรมอันชอบ ผู้แพ้ยอมพ่ายด้วยความรู้สึกผิด เห็นชอบตามยอมเป็นสาวกก็มาก ยอมบวชก็ไม่น้อย ยอมจงรักภักดีต่อ ไม่ขอสู้อีก พระองค์ไม่มีโอกาสจะกลับแพ้ เป็นความชนะที่ได้รับการสรรเสริญจากศัตรูเอง การชนะของพระองค์จึงเป็นชัยมงคล เป็นคุณควรแก่การเคารพบูชา สมควรจะแสดง สมควรจะสดับ สมควรจะศึกษา เพื่อให้เกิดอานุภาพเป็นชัยมงคลขึ้นอีก โดยพระพุทธบารมี

ชัยมงคลนี้ ชาวพุทธทั่วไปรู้จักในเกียรติคุณว่า พรพระ หรือระบุเอาเนื้อหามาเรียกทีเดียวว่า พาหุ ํ.. สำหรับพระสงฆ์สวดในเวลาเช้าก่อน ฉันเช้า ไม่เลือกที่ ไม่เลือกงาน จะที่วัดหรือบ้านก็นิยมสวด จะเป็นงานมงคลหรืองานศพก็นิยมสวด เรียกว่า สวด พาหุง.. หรือ ถวายพรพระ ประกาศเกียรติคุณของสัมมาสัมพุทธเจ้า

ชัยมงคลหรือพรพระนี้ มี ๘ บท ด้วยกัน จะได้ยกมาบรรยายเป็นบทๆไป เริ่มแต่มงคลที่ ๑ หรือ พรที่ ๑ เป็นปฐม ดังต่อไปนี้

เ มื่อพระสิทธัตถราชกุมาร พระบรมโพธิสัตว์เจ้า สละราชสมบัติออกทรงผนวชแสวงหาพระสัมมาสัมโพธิญาณ เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โปรดเวไนยสัตว์ให้พ้นจากสังสารวัฏฏทุกข์ ประสบวิมุตติสุขอันเกษมสานติ์ตามพระพุทธปณิธานที่ตั้งไว้นั้น ครั้นพระองค์ได้ทรงพยายามบำเพ็ญพระปรมัตถบารมีตลอด ๖ ปีเป็นกำหนด ปรากฏความตามพระบาลีว่าในคืนราตรีวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ หน่อพระชินศรีเสด็จผทม ในเวลาปัจจุสมัยใกล้สว่าง ทรงมหาสุบินนิมิตร ฝันเป็นมงคลวิจิตร ๕ ประการ ข้อต้นทรงฝันว่า พระองค์มีกายใหญ่ ผทมเหนือพื้นปฐพี พระเศียรหมุน ภูเขาหิมพานต์บรรพต พระพาหาทั้งสองข้างพาดหยั่งลงไปสู่มหาสมุทรทั้งสองฝั่ง พระยุคลบาทก็พาดหยั่งมหาสมุทรด้านตะวันตก เป็นต้น

ครั้นหน่อพระชินศรีทศพลทรงตื่นผทมแล้ว มีพระหฤทัยผ่องแผ้ว ทรงรำพึงถึงความฝัน ๕ ประการ แล้วทรงพยากรณ์ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เองว่า ความฝันทั้ง ๕ นี้ เป็นบุพพนิมิตรว่า พระองค์จะได้ตรัสรู้ พระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระสัมพุทธเจ้าในราตรีวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เพ็ญวิสาขมาส กลางเดือน ๖ คือ วันนี้ เป็นแน่แล้ว และในเช้าวันเพ็ญนั้น ทรงรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดากุลเศรษฐีธิดา ถวาย ณ โคนต้นไม้ไทรพฤกษมณฑล ทรงเสวยข้าวมธุปายาสหมดถาดทอง ซึ่งเจ้าของศรัทธาถวายทั้งถาดแล้ว พระองค์ก็เสด็จโดยพระบาทไปสู่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานที ทรงลอยถามทองเสี่ยงพระบารมีพระสัมโพธิญาณ เกิดเป็นนิมิตรปาฏิหาริย์ให้ถาดทองลอยทวนกระแสน้ำเห็นเป็นสำคัญ เป็นนิมิตรสนับสนุนความฝันเมื่อราตรี เวลากลางวันทรงประทับพักในร่มไม้อสัตถพฤกษ์โพธิมณฑล อันมีลำต้นและกิ่งใบงดงาม ทรงรับหญ้าคา ๘ กำ จากโสตถิยพราหมณ์ถวายในระหว่างทาง ครั้นเสด็จถึงก็ทรงวางไว้ที่โคนไม้มหาโพธิด้านทิศตะวันออก และทรงลาดเป็นพุทธอาสน์เพื่อประทับนั่ง แล้วทรงตั้งพระทัยอธิษฐาน ถ้าอาตมาจะได้ตรัสแก่ พระสัพพัญญุตญาณดังประสงค์ ขอจงบังเกิดเป็นรัตนบัลลังก์ แก้วปรากฏ พอสิ้นกระแสพระวาจาออกพระโอฐอธิษฐาน บัลลังก์แก้วรัตนะโอฬารสูงประมาณ ๑๔ ศอก ก็บังเกิดเป็นมหัศจรรย์ ต่อนั้นพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็เสด็จขึ้นประทับ หันพระปฤษฎางค์ข้างด้านพระมหาโพธิพฤกษ์ บ่ายพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก ทรงคู้พระเพลาขัดสมาธิ ตั้งพระกายดำรงพระสติมั่่นด้วยอานาปานสมาธิภาวนาแล้วออกพระโอฐดำรัสพระสัตยาธิษฐานว่า ถ้าอาตมาไม่พ้นอาสวะกิเลสตราบใด ถึงแม้มาตรว่า หฤทัย เนื้อ หนัง จะแห้งเหือด ตลอดถึงเลือดและมันข้นจนทั่วสรีระกาย อาตมะก็จะมิทำลายสมาธิบัลลังก์อันนี้เลย จะพยายามให้บรรลุเสวยพุทธาภิเศกสมบัติให้จงได้ ตั้งพระทัยมั่นหมายพระสัพพัญญุตญาณ ครั้งนั้น เทพยดาพระพรหมทุกสถาน มีท้าวสหัมบดีพรหม และท้าวมฆวาฬ เป็นต้น ก็มาประชุมแวดล้อมกระทำสักการบูชา

ครั้ั้งนั้น พญามารวัสวดี ได้สดับสัททสำเนียงเสียงเทพเจ้าบรรลือลั่นโกลาหล จึงดำริว่า หน่อพระพุทธางกูรจะล่วงพ้นวิสัยแห่งอาตมา เป็นศูนย์เสียศักดิ์ที่น่าอัปยศอดสูอย่างยิ่ง ควรอาตมาจะไปทำอันตรายให้พระองค์ลุกหนีไปให้พ้นจากบัลลังก์ อย่าให้พระองค์ล่วงพ้นวิสัยไปได้ พญามารมีความพิโรธด้วยกำลังอิสสาจิตครอบงำสันดาน จึงร้องอุโฆษนาการให้พลเสนามารทั้งสิ้น มาประชุมกันพร้อมด้วยสรรพาวุธ และสรรพวาหนะ ที่แรงร้ายเหลือที่จะประมาณ เต็มไปในคัคคณานท้องฟ้าพญาวัสวดีขึ้นช้างพระที่นั่งคีรีเมขล์ นิรมิตรมือพันมือ ถืออาวุธพร้อมสรรพ นำกองทัพมารอันแสนร้าย เหาะมาโดยนภาลัยประเทศ เข้าล้อมเขตบัลลังก์รัตน์ของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าไว้อย่างหนาแน่น

ทันใดนั้น ฝูงเทพเจ้าที่พากันมาแวดวงถวายสักการบูชาหน่อพระชินศรีอยู่ ต่างก็มีความกลัว พากันหนีไปยังขอบจักรวาฬ ทิ้งให้พระองค์ต่อสู้พญามารแต่พระองค์เดียว

เมื่อพระมหาพุทธางกูรทรงเปล่าเปลี่ยวเหลียวหาผู้จะช่วยมิได้จึงตรัสเรียกทวยทหารของพระองค์ ๓๐ เหล่า กล่าวคือ พระบารมี ๓๐ ทัศ ด้วยพระคาถาดำรัสว่า “ อายนฺตุ โภนฺโต อิธ ทานสีลา” เป็นอาทิ ความว่า มาเถิดพวกท่านทั้ง ๓๐ กอง จงพร้อมกันจับอาวุธรบกับหมู่มารในบัดนี้ ครั้งนั้น บารมีธรรม ๓๐ ประการ ต่างสำแดงกายให้ปรากฏดุจทหารกล้า ถืออาวุธพร้อมที่จะเข้าประยุทธชิงชัยกับเสนามาร รอพระบรมโองการประทานโอกาสอยู่เท่านั้น

เมื่อพญามารวัสวดี เห็นหน่อพระชินศรีโพธิสัตว์ ทรงประทับนั่งนิ่งไม่หวั่นไหวแต่ประการใด ก็พิโรธ สั่งให้เสนามารรุกเข้าทำอันตรายหลายประการจนหมดฤทธิ์ บรรดาสรรพาวุธ ศัตรายาพิษ ที่พุ่งชัดไป ก็กลายเป็นบุบผามาลัยบูชาพระองค์จนสิ้น ครั้งนั้น พญามารวัสวดีจึงตรัสกับพระโพธิสัตว์ด้วยสันดานพาลว่า สิทธัตถกุมาร บัลลังก์แก้วนี้เป็นของเรา เกิดเพื่อบุญเรา ท่านเป็นคนไม่มีบุญ ไม่ควรจะนั่ง จงลุกไปเสียโดยเร็ว

พระบรมโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า ดูกรพญามาร บังลังก์แก้วนี้ เกิดขึ้นด้วยบุญของอาตมาที่ได้บำเพ็ญมาแต่อสังขัยกัปป์ จะนับประมาณมิได้พญามารก็ค้านว่าไม่ใช่ ให้พระองค์หาพยานมายืนยันว่า พระองค์ได้ทำมาจริงให้ประจักษ์ในที่นี้ หน่อพระชินศรีจึงตรัสเรียกนางวสุนทราเจ้าแม่ธรณีว่า ดูกร วสุนทรานางจงมาเป็นพยานให้อาตมาด้วยเถิด

ลำดับนั้น นางวสุนทรา เจ้าแม่ธรณีก็ปรากฏกายทำอัญชลีถวายอภิวาท แล้วประกาศให้พญามารทราบว่า พระบรมโพธิสัตว์บำเพ็ญบุญมามากมายเหลือที่จะนับ แม้แต่น้ำตรวจที่ข้าพเจ้าเอามวยผมรองรับไว้บนเศียรเกล้า ก็มีมากพอจะถือเอาเป็นหลักฐานได้ นางกล่าวแล้วก็ประจงหัตถ์อันงาม ปล่อยมวยผม บีบน้ำตรวจที่สะสมไว้แต่เอนกชาติ ให้ไหลออกมาเป็นทะเลหลวง ท่วมทับเสนามารทั้งปวงให้จมลงวอดวาย กำลังน้ำได้ซัดช้างคีรีเมขล์ให้ถอยร่นลงไปติดขอบจักรวาฬ ครั้งนั้น พญามารก็ประนมหัตถ์นมัสการ ยอมพ่ายแพ้บุญญฤทธิ์แด่หน่อพระพิชิตมาร สมดังมโนปณิธานที่ทรงตั้งไว้ ตามนัยที่บรรยายมานี้ ประจักษ์ว่าพระมหามุนีทรงชนะมาณด้วยธรรมาวุธ จึงสมมุติบัญญัติจัดเป็นชัยมงคลด้วยประการฉะนี้

————————————

(บรรยาย ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๙๘)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น