วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พระวินัย

ตำนานพระวินัย

ป ฐมสังคายนา นี้ คนไทยใจบุญในภาคกลางนิยมเรียกว่า แจงปฐม เหตุใดคำว่า สังคายนา จึงกลายเป็นแจงไปสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเพราะหลายคำเรียกยากลำบากแก่การจดจำ ทั้งไม่รู้ไม่เข้าใจว่าอะไร จะเข้าใจหมายรู้ก็เฉพาะผู้เล่าเรียนเท่านั้น ดังนั้น พอจับคำว่าแจงเรียกแทนได้ ก็ทึกทักเรียกใช้ทันที และนิยมยินดีเรียกใช้ไม่เปลี่ยนแปลงว่า แจงปฐม หรือ เทศน์แจง พระเทศน์เรียกว่า องค์แจง พระสวดเรียกว่า พระสวดแจง หรือพระอันดับแจง

ค ำว่า แจง มาจากคำว่า แจกแจง หรือ ชี้แจง คือแจงออก ขยายออก หรือ แสดงไขให้ละเอียด ชัดแจ้ง นิยมเรียกว่า แจงสี่เบี้ย คือแจงออกให้หมดปัญหา สิ้นความสงสัย ขณะที่ทำบรรยายนี้มีผู้ถามว่า โดยอธิบายนี้ ทำไมจึงต้องเรียกว่า แจงสี่เบี้ย ขอเวลาชี้แจงเสียด้วย แจงสี่เบี้ยนั้นดูเหมือนจะได้มาจากโรงบ่อน อันเป็นสถานที่เล่นการพนัน ที่รัฐบาลอนุญาตให้เล่นได้ เป็นคำนักเล่นการพนันเรียกใช้มาแต่เดิม คือการพนันชนิดนี้ เรียกว่า กำถั่ว คู่กันมากับปั่นโป เรียกสั้นว่า ถั่วโป กำถั่วนั้นเดิมใช้เม็ดถั่วดำ เจ้ามือการพนันเขากำเม็ดถั่วออกให้ทายว่าในมือเขามีเม็ดถั่วกี่เม็ด แต่มีจำนวนจำกัดไว้ ๔ เม็ด ถ้ามี ๑ เม็ด เรียกว่าออกหน่วย ๒ เม็ด เรียกว่า ออกสอง ๓ เม็ด เรียกว่า ออกสาม ๔ เม็ด เรียกว่า ออกครบ ถือจำนวนจำกัดที่ตั้งไว้ แม้จะกำออกมากกว่า ๔ เม็ด อีกเท่าใดๆ ก็ได้ หากเกิน ๔ เม็ดไปก็นับเอาเศษของ ๔ เป็นเกณฑ์พนัน ถ้ากำอกมาก เจ้ามือจะแจงเม็ดถั่วออกทีละเม็ด เหลือเศษเท่าใด ก็ถือเป็นเกณฑ์ถูกผิด ถ้าพอดี ๔ ก็เป็นครบทุกครั้ง ต่อมาเห็นว่าถั่วเม็ดเล็ก เจ้าของโรงบ่อนได้ใช้เบี้ยแทน จึงนิยมเรียกว่า แจงสี่เบี้ย

ใ นที่นี้ แจงเป็นชื่อของธรรมเทศนาเรื่องหนึ่ง เรียกว่า เทศน์สังคายนา แต่คนสมัยนิยมเรียกว่า เทศน์สังคายนาย เช่น เมืองปาวา ก็เรียก เมืองปาวาย เมืองกุสินารา ก็เรียก เมืองโกสินนาราย เป็นต้น

อ ันเทศน์สังคายนานี้ นิยมเรียกว่า เทศน์แจง หรือ มีแจง ถ้าได้ยินใครพูดว่า งานนี้เขามีเทศน์แจง หรือ มีแจง เราก็รู้ได้ว่า มีเทศน์สังคายนา

ส ำหรับพิธีจัดงานมีเทศน์สังคายนานี้ มีนิยมให้พระสวดแจง เรียกว่า พระอันดับ บ้าง กำหนดจำนวน ๒๕ รูปเป็นอย่างต่ำ ที่สูงขึ้นไปถึง ๕๐๐ รูป แต่ที่จำนวนมากกว่านี้เป็นงานพิเศษจริงๆ เพราะเพียงแต่พระ ๕๐๐ รูป ก็หาพระลำบากอยู่แล้ว

พระที่เทศน์นิยมจำนวนไว้ ๓ รูป ภายหลังย่อลงเหลือรูปเดียวก็มีสำหรับพระเทศน์นิยมเรียกว่า องค์แจง พระสวดแจงเรียกว่า พระอันดับแจง

เ นื่องจากงานสังคายนามี ๕ ครั้ง ดังนั้น เมื่อมีเทศน์สังคายนาจึงนิยมเรียกตาม สังขยา คือ ตัวเลขตามลำดับครั้ง เช่นครั้งที่ ๑ เรียกว่า ปฐมสังคายนา ครั้งที่ ๒ เรียกกว่า ทุติยสังคายนา ครั้งที่ ๓ เรียกว่า ตติยสังคายนา ครั้งที่ ๔ เรียกว่า จตุตถสังคายนา ครั้งที่ ๕ เรียกว่า ปัญจมสังคายนา โดยมากนิยมมีเทศน์ ปฐมสังคายนา ถ้าเรียกตามสามัญนิยม เรียกว่า แจงปฐม แจงทุติยะ ตามลำดับเลขไป

ป กติเทศน์แจง มักนิยมมีในงานศพผู้ใหญ่ ซึ่งผู้น้อยเช่นลูก หลาน ซึ่งเป็นญาติ ผู้น้อยทำอุทิศบุญให้ญาติผู้ใหญ่ มีบิดา มารดา เป็นต้น หรือ ไม่ก็ศิษย์ทำให้ครูอาจารย์ ถือว่าเป็นงานทำบุญสนองพระคุณ ผู้มีพระคุณแก่ตนอย่างสำคัญยิ่ง ดังนั้น งานศพผู้ใหญ่จึงนิยมให้มีเทศน์แจงทั่วไป นิยมทำกันมานานแล้ว สำหรับในพระนครดูชักจะบางไป แต่ตามหัวบ้านหัวเมืองยังนิยมทำกันอยู่

เ รื่องที่พอใจทำกันนั้น เป็นเพราะเนื่องด้วยการประชุมพระสงฆ์ในการนี้มากรูป โดยปกติหากพอจะหาพระได้แล้ว ก็ต้องมีพระ ๒๘ รูปเป็นอย่างต่ำ รวมทั้งพระเทศน์ด้วย ดูเป็นงานค่อนข้างจะใหญ่อยู่สักหน่อย แม้ถึงเรื่องอันเป็นมูลเดิมของท่านก็เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งมีความสำคัญมากด้วย ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

เ ท่าที่ยกมากล่าวนี้ เป็นเรื่องเทศน์สังคายนา คือ พระผู้เทศน์จะแสดงความเป็นมาของงานสังคายนาครั้งนั้นๆ ว่าทำกันอย่างไร ถ้าเป็นครั้งที่ ๑ ที่นิยมเทศน์กันมา ก็จะมีการสมมุติองค์เทศน์องค์แจงนั้น ให้เป็นพระมหากัสสปเถระ รูปหนึ่ง เป็นพระอุบาลีเถระ รูปหนึ่ง และเป็นพระอานนทเถระ รูปหนึ่ง แล้วแบ่งกันเทศน์ตามเนื้อเรื่องจนกว่าจะจบเรื่อง เรื่องเทศน์แจงหรือเทศน์สังคายนา ใช้เวลา ๒ ชั่วโมงก็จบ ซึ่งเราคงจะเคยได้เห็นได้ฟังกันบ้างแล้วในงานศพทั่วไป ไม่ใช่ทำการสังคายนา ซึ่งต้องใช้พระที่เป็นนักปราชญ์และราชบัณฑิตย์มาก และใช้เวลาทำแรมเดือนแรมปีจึงจะทำสำเร็จ ปรากฎตามพระราชพงศาวดารประเทศไทย เฉพาะกรุงเทพพระมหานครนี้ ก็ได้ทำการสังคายนาครั้งหนึ่ง ในต้นรัชกาลที่ ๑ ทำที่วัดมหาธาตุ โดยทรงพระปรารภว่า นับแต่ประเทศไทยสมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี เสียแก่พม่า ปรากฏว่ามีคนใจร้ายเผาวัดวาอารามสำคัญๆ หลายวัด บรรดาคัมภีร์พระศาสนาซึ่งรวมเรียกว่า พระธรรมวินัยไตรปิฎก ก็ถูกไฟเผาป่นปี้ สมควรจะรวบรวมบางคัมภีร์ที่กระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองชั้นนอกอยู่บ้าง เข้ามาสังคายนาชำระให้ถูกต้องครบบริบูรณ์ แล้วจานลงในใบลาน รักษาไว้เป็นหลักประเทศชาติพระศาสนาสืบไป จึงได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ผู้มีปรีชาแหลมหลักเป็นนักปราชญ์ มีองค์สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ทำการสังคายนา สำเร็จตามพระราชประสงค์ทุกประการ ปัจจุบันนี้พระคัมภีร์ที่จัดทำในครั้งนั้นยังรักษาไว้เรียบร้อยดีที่หอมณเฑี ยรธรรม ในพระบรมมหาราชวัง

ไ ด้กล่าวแล้วว่า เทศน์แจง หรือ เทศน์สังคายนานั้น เป็นการพรรณนาถึงประวัติการทำงานสังคายนาครั้งกระโน้นว่าเป็นอย่างไร มิใช่เป็นการชำระแก้ไขข้อความขาดตกบกพร่องให้บริบูรณ์ ดังนั้นงานเทศน์แจง จึงเป็นงานบุญทำกุศล เพื่อเตือนพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ทั้งพระและคฤหัสถ์ที่เป็นผู้ใหญ่ทั่วไปว่า ถ้าได้เห็นขนบธรรมเนียมและระเบียบอันใดบกพร่องก็ดี เห็นความประพฤติของผู้น้อยบกพร่องไม่ดีไม่งามก็ดี อย่าได้ละเลยพยายามช่วยแก้ไข ห้ามปราม ตักเตือน ถ้าคนเดียวทำไม่ได้ ก็ให้พยายามหาโอกาสชักชวนผู้ที่สามารถช่วยเป็นภาระช่วยจัดให้ถูกต้อง ด้วยเป็นการจัดทำพระศาสนาให้งาม รักษาความที่ถูกที่ต้องไว้ เพื่อทำคนทั้งหลายให้งาม ด้วยธรรมวินัยสืบไป ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า มีเทศน์แจงได้บุญกุศลดีมาก

เ ทศน์แจงนี้นิยมทำกัน ๒ อย่าง คือ แจงตาย และ แจงเป็น สำหรับแจงตายนั้นทำในงานศพ ซึ่งเจ้าภาพจัดทำมุ่งบุญอันจะพึงได้จากเทศน์แจง อุทิศให้ผู้ตายโดยเฉพาะ ส่วนแจงเป็นผู้ทำปรารภตน มุ่งผลอันจะพึงได้จากเทศน์แจงให้แก่ตนเอง แก่ญาติมิตรของตน เช่น กรมประชาสัมพันธ์จัดพระสงฆ์มาสวดแจง ความจริงนั้นก็เข้าไปลักษณะแจงเป็นด้วยมุ่งบุญกุศลทั้งหมดแก่กรรม และตลอดไปแก่ผู้ใคร่ตั้งใจสดับแจงทุกคน ดังนั้น ก่อนแต่พระสงฆ์ จะสวดแจง จะได้ชี้แจงถึงอุบัติเหตุของปฐมสังคายนา พอเป็นเครื่องเจริญศรัทธาประดับสติปัญญาพอสมควรแก่เวลา เรื่องมีว่า

โ ลกนาเถ เมื่อสมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จำเดิมแต่ได้ตรัสแก่พระปรมาภิเสกสัมโพธิญาณแล้ว ก็ทรงพระมหากรุณาเทศนาสั่งสอนนิกรชนให้ปฏิบัติล่วงพ้นจากสังสารวัฏฏทุกข์ มีความสุขตามสันติวรบท ออกบำเพ็ญพรตตามพุทธานุสาสนี มีพระปัญจวัคคีย์เถระเป็นปฐม มีพระสุภัททสาวกนิยมเป็นอวสาน ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคง เป็นคุณธำรงศาสนปฏิบัติจำเริญแก่เหล่าพุทธบริษัทสุดจะคณนาประมาณกาลที่ทรงบำ เพ็ญมาได้ ๔๕ พรรษา เป็นกำหนด แล้วพระบรมสุคตอรหันตเจ้า ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในสาลวโนทยานแห่งเมืองกุสินาราราชธานี เมื่อเสด็จงานถวายพระเพลิงพระสรีระธาตุของสมเด็จพระชินศรีได้ ๗ วัน จึงพระมหากัสสปะองค์พระอรหันต์มหาเถรเจ้า ผู้เป็นประมุขของมวลเหล่าพระสงฆ์สาวกทั้งหลายประมาณ ๗ แสน บรรดามาสันนิบาตประชุมกัน ได้ชักชวนพระสงฆ์เหล่านั้น ให้เกิดความอุตสาหะทำปฐมสังคายนาพระธรรมวินัยไว้ให้เป็นหลักชัย เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสในสุปฏิบัติของพุทธบริษัทตลอดกาลนาน เพื่อแทนองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์สัมพุทธบพิตร ให้สมกับพระโอวาทที่ทรงปกาสิตดำรัสสั่งว่า “ โย โว อานนฺท ธมฺโม จ วินโย จ” เป็นต้น ความว่า ดูกรสำแดงอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่ตถาคตได้แสดงแล้วบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ธรรมวินัยอันนั้นจักเป็นครูเป็นอาจารย์ของพวกเธอสืบไป พระสงฆ์ทั้งหลายก็เห็นสอดคล้องด้วยพระมหากัสสป ต่อนั้นก็ปรารภเลือกคัดจัดสรรการกสงฆ์ ที่ทรงแต่อริยคุณ สมบูรณ์ด้วยปฏิสังภิทาญาณ แตกฉานในพระธรรมวินัย และเลือกได้ตามจำนวนถ้วน ๕๐๐ องค์พอดี ต่อนั้นก็พิจารณาถึงสถานที่ว่าจะประชุมทำกัน ณ ที่ใด แต่แล้วก็ตกลงเลือกได้พระนครราชคฤห์เป็นที่ประชุมทำสังคายนา กำหนดเวลาทำอีก ๓ เดือน ช้างหน้าเป็นแม่นมั่น

อ นึ่ง เพื่อป้องกันอันตรายอันจะเกิดแต่อลัชชี มาอยู่แทรกแซงให้เสื่อมศรีเสียการงาน พระมหากัสสปสังฆวุฒาจารย์ จึงประกาศสั่งถอนภิกษุบรรดาที่อาศัยอยู่ในพระนครราชคฤห์ทั้งหมด ให้ออกภายในเวลากำหนดที่พระสงฆ์ ๕๐๐ รูปจะพึงเข้าไป ทั้งประกาศห้ามภิกษุอื่นใดมิให้เข้าไปอยู่อาศัยในพระนครราชคฤห์ ตลอดเวลาทำสังคายนา เพื่อป้องกันพาลชน จะเข้าไปปลอมบรรพชาแสวงหาลาภผล ครั้นกาลใกล้จะถึงฤดูฝน พระการกสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ ก็เดินทยอยกันเข้าสู่ราชคฤห์มหานคร โดยไม่รีบร้อน เดินทางอย่างสบาย เมื่อได้โอกาสก็พากันเข้าไปถวายพระพรขอความอุปถัมภ์ พระเจ้าอชาตศัตรูราชบพิตร ประจักษ์ว่าท้าวเธอก็มีจิตศรัทธาปัสสันนาการ ปฏิสังขรณ์พระมหาวิหารทั้ง ๑๘ แห่ง ให้การกสงฆ์อยู่อาศัยได้ความสุข ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมบำบัดทุกข์ทุกเวลา อีกทั้งพระองค์ยังปวารณาให้บอกความประสงค์ได้เป็นนิตย์ เพื่อให้การสังคายนาสัมฤทธิ์สำเร็จผล ตามที่ตั้งปณิธานไว้แต่ต้นทุกประการ กับให้สร้างมณฑปมหาศาลไว้แทบประตูถ้ำสัตตบัณณคูหา ข้างภูผาเวภารบรรพต งานตระการปรากฏด้วยเครื่องประดับอันวิจิตร สมควรเป็นที่สถิตย์พระอริยสงฆ์ทำสังคายนา ครั้นกาลล่วงเข้าเดือนที่สอง แห่งปุริมพรรษาอันเป็นเวลากำหนดหมาย จึงพระสงฆ์ทั้งหลายก็มาสันนิบาตยังมหามณฑป พระมหากัสสปก็ปรารภในอันที่จะร้อยกรองซึ่งพระธรรมวินัย ปรึกษากันว่า ควรจะสังคายนาอันใดก่อนจึงจะดี เมื่อเห็นพร้อมกันว่าพระวินัยเป็นอนุสาสนีที่ควรจะสังคายนาก่อน ด้วยเป็นอากรรากฐานอันมั่นคงของพระศาสนาทั้งเป็นคุณรักษาสังฆมณฑล ให้ผ่านพ้นสรรพภัยได้สวัสดี และถวายโอกาสแก่พระอุบาลีและองค์วิสัชชนา ด้วยได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาไว้ในเอตทัคคะสถานว่าเป็นพระที่เชี่ยวชาญทาง พระวินัย สามารถจะชี้แจงแสดงไขได้ถ้วนถี่ เพื่อเทอดไว้ซึ่งระบบอนุสาสนีแนวพระบัญญัติ รักษาภาวะของผู้ปฏิบัติพระวินัยให้สถาพร พระอุบาลีเถระเจ้าก็ประณมกร รับโอกาสขึ้นสถิตย์เหนือธรรมาสน์อันงามวิจิตร ตามปกาสิตของการกสงฆ์ได้บัญชาต่อนั้น พระมหากัสสปก็เริ่มปุจฉา พระอุบาลีก็ถวายวิสัชชนาได้เรียบร้อยทุกประการ การกสงฆ์ก็ชื่นบานอนุโมทนาด้วยสำเร็จความปรารถนาที่ตั้งไว้ รวมสังคายนาพระวินัยได้ถึง ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

ป ุจฺฉาวิสชฺชนาปริโยสาเน ในกาลเมื่อจบปุจฉาวิสัชชนาพระวินัยปิฏกนั้น พระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ พระองค์ ก็สังวัธยายพระวินัยปิฏกนั้นๆ เป็นคณะๆเป็นพวกๆกัน โดยอันยกขึ้นสู่สังคายนาด้วยประการฉะนี้

ว ินยสงฺคหาวสาเน เมื่อสังคายนาพระวินัยปิฎกจบลงในครั้งนั้น บังเกิดมหัศจรรย์แผ่นปฐพีก็บันดาลบันลือลั่นสนั่นไหว สะเทื้อนสะท้านลั่นลงไปถึงน้ำรองพระธรณี ทั้งหมู่เทพเจ้าก็พากันยินดีแซ่ซ้องสาธุการอนุโมทนา โปรยปรายทิพยรัตน์บุบผาปาริกชาติ อีกปทุมมาศบัวบานบูชาในขณะนั้น จัดว่าเป็นศรีเป็นมิ่งขวัญแก่พระศาสนา ตลอดทุกคนผู้มีศรัทธาทั่วไป ขอมวลศิริมิ่งขวัญทั้งหลายดังพรรณนามา จงมีแด่พุทธศาสาสนบริษัทตามสมควรแก่วิสัย ขอยุติข้อความในเรื่องสังคายนาพระวินัยแต่เพียงนี้ .

———————————–

คติธรรม

คนเลี้ยงไก่ ใครที่ไหน จะเลี้ยงเปล่า

ทุกเมล็ดข้าว หมายไข่,เนื้อ ไปเมื่อหน้า

รับเพิ่มงาน ก็หมายเงิน เกินอัตรา

รับรักษา หมายขวัญข้าว เอาค่ามนต์

ธรรมสาธก”

(บรรยาย ๑๗ เมษายน ๒๔๙๙)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น