วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

กาลทานสูตร

ตำนานกาลทานสูตร

อ นุโมทนากถา กาลทานสูตร นี้เป็นบทพระพุทธมนต์อนุโมทนาแก่ผู้บริจาคทานตามกาล เป็นพิเศษ จะได้บรรยายถึงมูลเหตุแห่งมนต์บทนี้ เพื่อเจริญศรัทธาสัมมาปฏิบัติของทุกท่านที่ใคร่ธรรมก่อน ทั้งเพื่อเป็นวิทยาภรณ์ของธรรมจารีชนสืบไป เรื่องมีว่า

ใ นสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่กุฏาคารศาลาป่ามหาวัน แคว้นพระนครไพสาลี ประทานอนุสาสนีพุทโธวาทประสาธน์มรรคผล ให้สำเร็จแก่พุทธเวไนย ทรงประทานพรหมจรรย์แก่ผู้มีเสื่อมใสเป็นพิเศษ เพื่อให้บรรลุอจลเขตปฏิสัมภิทา ทรงเผยเกียรติคุณของพระศาสนา ให้รุ่งเรืองไพศาลเป็นพิเศษปลุกประชาสัตว์ให้ตื่นจากสรรพกิเลสนิทรา จึงประชาชนพากันเคารพบูชาและปฏิบัติดำเนิน โดยหยั่งเห็นเป็นคุณเครื่องจำเริญประโยชน์สุขทั้งภพนี้และภพหน้า

ค รั้งนั้น สีหะเสนาบดี มีศรัทธา ได้เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับโดยควรแก่โอกาส น้อมเศียรถวายอภิวาทแล้วกราบทูลว่า “ ข้าแต่พระมหากรุณาธิคุณโลกนาถ พระองค์ยังจะทรงสามารถบัญญัติแสดงให้เห็นชัด ถึงผลทานในปัจจุบันนี้ทันตาเห็น ได้หรือไม่ พระเจ้าข้า”

ส มเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “สีหะ ตถาคตสามารถบัญญัติให้เธอรู้เห็นชัดในปัจจุบันทันตาเห็นได้ จงตั้งใจสดับ ท่านสีหะ อันคนผู้เป็นทานบดี คือเจ้าของทาน มิใจชื่นบานยินดีสละให้ ย่อมเป็นที่รักใคร่ ชอบใจของหมู่ชนเป็นอันมาก นี้เป็นผลในปัจจุบันข้อหนึ่ง”

ท ่านสีหะ ยังมีอีก คือ คนที่ยินดีสละให้นั้น ย่อมได้รับการคบหาสมาคมจากคนดี อัธยาศัยดี สงบเรียบร้อยทั่วไป คนดีทั้งหลายพอใจไปมาหาสู่อยู่ร่วม นี้เป็นผลในปัจจุบันข้อหนึ่ง”

สีหะ ยังมีอีก เกียรติศัพท์ ชื่อเสียงอันดีของทานบดี ผู้ที่ยินดีสละให้ ย่อมฟุ้งขจ รไปไกล นี้เป็นผลทานในปัจจุบันข้อหนึ่ง

ท่านสีหะ ยังมีอีก หากว่า ทานบดี คนที่ยินดีสละให้ จะเข้าสู่สมาคมใด ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์,พราหมณ์ หรือ คหบดี หรือแม้สมณะ ย่อมจะองอาจ ไม่สะทกสะท้านเก้อเขินแต่ประการใด นี้เป็นผลทานในปัจจุบันข้อหนึ่ง”

ท ่านสีหะ ใช่ว่าผลทานจะสิ้นสุดอานุภาพในการให้ผลแก่ผู้บริจาคในปัจจุบันเพียงเท่านั้น ก็หาไม่ เมื่อผู้บริจาคแตกกายทำลายขันธ์แล้ว ยังจะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์อีก”

ท ่านสีหะเสนาบดีได้สดับพระพุทธโอวาทจบลงด้วยความปลาบปลื้มประกาศความเชื่อมั่ นต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ตนเป็นทั้งทายก เป็นทั้งทานบดี คือ เป็นทั้งผู้ให้ทาน และเป็นเจ้าของทานด้วย ถวายอภิวาทกระทำปทักษิณแล้ว กลับคืนนิเวศน์ของท่าน

พ ระผู้มีพระภาคเจ้าได้ ทรงแสดงกาลทานแก่ ภิกษุ ทั้งหลาย สืบไปว่า “ ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีปัญญา จักรู้ถ้อยคำของคนร้องขอความกรุณาบอกความต้องการ ผู้ปราศจากความตระหนี่ ย่อมบริจาคทานให้ทานที่ควรบริจาค กาลทานที่บุคคลบริจาคแล้วด้วยจิตเลื่อมใสมีผลไพบูลย์ แม้คนที่ช่วยเหลือในการบริจาค ที่สุดคนที่ทราบเรื่องแล้ว พลอยอนุโมทนาทานในการบริจาคนั้นด้วยความเลื่อมใส ก็มีส่วนพลอยได้บุญด้วยมาก เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรมีความกินแหนงแคลงใจในการบริจาค พึงห้ามความท้อแท้และพึงบริจาค ทานที่บริจาคแล้วนั้น มีผลมากนัก”

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กาลทาน คือ ทานที่บริจาคในฤดูกาลที่นิยมนี้ มี ๕ อย่างคือ ๑. อาคันตุกทาน ทานสำหรับบริจาคแก่ผู้เดินทางมาถึงถิ่นเรา ๒. คมิกทาน ทานบริจาคแก่ผู้เตรียมตัวจะเดินทางไกล ๓. ท ุพภิกขทาน ทานบริจาคในคราวเกิดทุพภิกขภัย คือในสมัยข้าวยากหมากแพง ในคราวประชาชนอดหยากลำบากด้วยอาหารเพราะฝนแล้ง ข้าวตาย คนอดหยากมาก แม้ประสบภัยจากน้ำท่วม ลมร้ายไฟไหม้ ก็นับเข้าในข้อนี้ ๔. นวผลทาน ทานบริจาคในคราวมีผลไม้ใหม่ในปีหนึ่งๆ เช่น สลากภัตมะม่วง เป็นต้น ๕. นวสัสสทาน ทานบริจาคในคราวข้าวกล้าในนาแรกเกิดผล ในเวลาต่างๆกัน รวม ๙ ครั้ง คือ

. สาลิคพฺพคฺคํ ในคราวแรกรวงข้าวกล้าเป็นน้ำนม ( นิยมเรียกว่า ยาคู )

.ปุถุคฺคํ ในคราวข้าวเป็นข้าวเม่า

. สายนคฺคํ ในคราวเกี่ยว

. เวณิคฺคํ ในคราวทำคะเน็ด

. กลาปคฺคํ ในคราวมัดฟ่อน

. ปลคฺคํ ในคราวขนเข้าลาน

. ภณฺฑคฺคํ ในคราวทำลอมข้าว

. โกฏฐคฺคํ ในคราวขนเข้ายุ้งฉาง

. อุกฺขลิกคฺคํ ในคราวหุงข้าวใหม่

ก าลทาน ทั้ง ๕ นี้ ที่บุคคลมีปัญญา มีศรัทธา บริจาคในท่านผู้มีศีลทั้งหลาย ย่อมมีผลมากยิ่งแล เมื่อสิ้นกระแสพระโอวาทแล้ว ได้ตรัสคำเป็นอนุโมทนากถา รวม ๓ คาถาครึ่ง มีคำว่า กาเล ททนฺติ เป็นต้น

ส ำหรับกาลทานในเรื่องถวายเนื่องด้วยข้าว รวม ๙ ครั้งนี้ มีเรื่องที่พรรณนาถึงผลของกาลทาน ที่คนใจบุญได้พยายามทำ ว่ามีผลมาก และได้รับผลก่อนผู้อื่น เพราะคนทำก่อนย่อมได้ผลก่อน คนทำภายหลัง ย่อมได้ผลภายหลัง เรื่องมีว่า ในศาสนาของพระวิปัสสีสัมพุทธเจ้า ครั้งนั้นมีคหบดีสองพี่น้อง ผู้พี่มีนามว่า มหากาล ผู้น้องมีนามว่า จุลกาล เป็นผู้มีหลักฐานในกสิกรรม ทำนาเป็นอาชีพ โดยชอบโดยกาล มีวิริยะอุตสาหะไม่เกียจคร้านในงานเฉพาะหน้า สมัยหนึ่งได้เริ่มทำนา เมื่อข้าวกล้าได้น้ำท่า และได้รับการรักษาด้วยดีก็งดงามเสมอกันหมด ครั้นข้าวในนาออกรวง เริ่มมีน้ำนมแล้ว ท่านคหบดีจุลกาล จึงดำริว่า อันน้ำนมในเมล็ด ในระยะกาลนี้ มีโอชารส ถ้าเราจะเอามาบดบีบคั้นเอาแต่น้ำนมและผสมปรุงด้วยน้ำตาลกรวด ก็จะมีรสหวาน เป็นอาหารอันเอมโอชอันล้ำค่า แล้วน้อมถวายแต่พระบรมศาสดาพระวิปัสสีพุทธเจ้า เป็นดีแท้จึงจัดการทดลองโดยเกี่ยวเอารวงข้าวที่กำลังเป็นน้ำนม ในเขตนามา บ้านครั้นท่านมหากาลผู้พี่ชาย เห็นเข้าก็ไม่ชอบใจ และห้ามปรามทัดทาน แต่ท่านจุลกาลไม่ยินยอม ในที่สุดได้ตกลงแบ่งนาทั้งสิ้นออกเป็นคนละส่วนไม่รวมกัน เพี่อให้สิทธิในอันที่จะทำกิจนั้นๆได้ตามประสงค์ โดยควรแก่อัธยาศัย ท่านจุลกาล มีความยินดีในอันจะได้บำเพ็ญบุญดังมโนรถจึงได้เรียกคนเข้าช่วยจัดตัดเอาแต่ร วงข้าวที่เป็นน้ำนม เอามาคั้นปรุงเป็นข้าวยาคู อย่างโอชารส พอควรแก่พระสงฆ์ และน้อมถวายพระพุทธองค์ พระวิปัสสีสัมพุทธเจ้าและสาวกด้วยความเลื่อมใส และได้อธิษฐานไว้ว่าต่อไปในเบื้องหน้า ขอให้ข้าได้บรรลุโมกขธรรมก่อนกว่าใครๆในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกา ลข้างหน้าโน้นเถิด

ส ่วนท่านมหากาลไม่เลื่อมใส ไม่พอใจในการกระทำของน้อง ปล่อยให้ท่านจุลกาลบำเพ็ญบุญกาลทานในผลของข้าวในนา รวม ๙ ครั้งตามลำพัง มิได้เข้าช่วยเหลือร่วมแรง แม้แต่จิตจะอนุโมทนาก็ไม่มี เพราะไม่มีความยินดีแล้วแต่ต้น ได้มาบำเพ็ญบุญสำหรับตนต่อกาลภายหลัง

ด ังนั้น ครั้นท่านทั้งสองวายชนม์แล้ว ก็ไปสุคติสวรรค์ด้วยบุญกรรมนั้นๆ อำนวยให้ ประสบสุขตามวิสัย โดยควรแก่กาล ครั้นมาบังเกิดในภัทรกัปป์นี้ ด้วยอานุภาพของกาลทานของท่านจุลกาลที่ได้บำเพ็ญในครั้งนั้น ได้นำให้ท่านมาเกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญเถระ ได้สดับธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ได้สำเร็จอริยผล เป็นพระสงฆ์อริยเจ้าก่อนผู้อื่นทั้งหมดสมดังมโนรถที่ปรารถนาไว้ในคราวถวายข้ าวยาคู ซึ่งปรุงขึ้นด้วยข้าวน้ำนมในศาสนาพระวิปัสสีสัมพุทธเจ้า

ส ่วนท่านมหากาล ได้มาบังเกิดเป็นพระสุภัททะ ได้ฟังธรรมของพระสัมพุทธเจ้าในเวลาที่พระองค์ใกล้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน เมื่องกุสินารา ได้เป็นอรหันต์องค์สุดท้าย ด้วยกุศลที่ถวายทานในกาลภายหลัง ด้วยประการฉะนี้

ส ำหรับอนุโมทนากถานี้ พระสงฆ์ได้นิยมสวดเป็นคาถาอนุโมทนาในงานถวายกาลทาน ตามที่ประจักษ์อยู่เป็นประจำโดยมาก ก็งานทอดกฐิน ด้วยผ้ากฐินเป็นผ้ากาลจีวร คือ จีวรที่ทายกจัดถวายพระสงฆ์ในจีวรกาล ตามพระบรมพุทธานุญาตที่ทรงบัญญัติ จัดเข้าในกาลทานโดยแท้ กับงานถวายสลากภัตต่างๆ เช่น สลากภัตมะม่วง สลากภัตทุเรียน เป็นต้น ก็นิยมใช้กาลทานสูตรสวดอนโมทนาทั่วกันในสังฆมณฑล

เ พราะฉะนั้น ขอสาธุชนผู้ใคร่บุญ ไม่พึงประมาทในโอกาสที่บำเพ็ญกาลทาน ควรจะมีใจเบิกบานร่วมบำเพ็ญกุศล หรือไม่ก็เข้าช่วยเหลือด้วยกำลังของตนตามสามารถ ที่สุดหากไม่เป็นโอกาส ก็ควรตั้งใจอนุโมทนาสาธุการ จักได้มีส่วนบุญในกาลทานนั้นๆ ตามควรแก่วิสัยในกำลังบุญกุศล เพื่อเพิ่มพูนบุญบารมีของตนให้ไพศาล ขอยุติข้อความในเรื่องกาลทานแต่เพียงนี้

—————————–

(บรรยาย ๑๔ สิงหาคม ๒๔๙๙)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น