วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ชัยมงคลที่ ๗

ตำนานชัยมงคลที่ ๗

ค รั้งหนึ่ง เมื่อพระชินศรีสัมพุทธเจ้า ทรงพาพระสงฆ์สาวก ๕๐๐ องค์ ทรงจาริกไปโปรดสัตว์ตามคามนิคมน้อยใหญ่พอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็เสด็จคลาดแคล้วคืนสู่พระเชตวันมหาวิหาร เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทราบข่าวสาร ก็พาบริวารเข้าเฝ้าเยี่ยมสมเด็จพระสัมพุทธเจ้ายังอาราม ทูลถามถึงทุกข์สุขและการงาน ยามเมื่อเสด็จนิราศพระวิหารไปบำเพ็ญพุทธกิจในทางไกล ครั้นเมื่อได้ฟังพระดำรัสตรัสสำแดงให้แจ้งใจแล้วก็ถวายอภิวาท อาราธนาสมเด็จพระโลกนาถให้เสด็จรับอาหารบิณฑบาตรพร้อมพระสงฆ์ สาวก ที่นิเวศน์ ของท่านในวันพรุ่งนี้ เมื่อสมเด็จพระชินศรีรับอาราธนาด้วยดุษณีภาพนิ่งอยู่ก็รู้ชัด ก็มีความโสมนัสถวายอภิวาทพระโลกนาถกลับคืนหลังยังนิเวศน์สถาน สั่งให้จัดประณีตโภชนาหาร เตรียมถวายพระศาสดาจารย์ในวันพรุ่งนี้

ป จฺจุสมเย ครั้นเวลาใกล้รุ่งพระสุริยศรีในราตรีนั้น สมเด็จพระภควันต์ ทรงแผ่ข่ายพระญาณตรวจดูอุปนิสัยสัตว์โลกธาตุ ก็ทรงเห็นพญานันโทปนันทนาคราชเข้ามาปรากฏ สมควรจะทรมานให้สิ้นพยศอันร้ายกาจ แม้จะอยู่ในวิสัยแห่งทิชชาชาติ ซึ่งไม่สามารถจะบรรลุมรรคผลก็ตามที เพราะจะได้เกิดความยินดีในคุณพระศรีรัตนตรัย เลิกละความโหดร้ายอุลามก จะได้เกิดกุศลจิตคิดมายอยกธรรมปฏิบัติ ตามควรแก่วิสัยสัตว์อันจะพึงมี

ค รั้นสมเด็จพระชินศรีพิชิตมาร ทรงอาวัชชนาการนึกแน่ใจพระทัยแล้วมิช้า จึงมีพระบัญชาให้พระอานนทเถระเผดียงพระอรหันต์ทั้งหลายให้มาประชุมพร้อมกันท ี่หน้าพระเชตวันในเวลารุ่งเช้า ครั้นแล้วพระสัมพุทธเจ้าก็ทรงพาพระอริยสาวกเหาะมาทางคัคนานต์ ด้วยอานุภาพอิทธิปาฏิหาริย์แห่งสมาบัติ ข้ามภูเขา ป่าชัฏ ท่อ ธาร ระหาน เหว หนอง คลอง บึง จนบรรลุถึงถิ่นพญานันโทปนันทนาคราช ซึ่งเป็นพญานาคที่ร้ายกาจตามวิสัย จะทำอะไรๆก็ทำเอาตามใจทุกประการ ด้วยทิฐิสันดานพาลครอบงำนำให้ประพฤติผิด มีโทสจริตเป็นมูลฐาน เป็นเหตุให้กิเลสมาร เข้าสิงจิต คอยเพ่งจับความผิดผู้อื่นด้วยริษยา ดังนั้น พญานันโทปนันทนาคราช ได้เหลือบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยสงฆ์สาวก ๕๐๐ เสด็จมาทางอากาศ งามประหนึ่งหงษ์เหมราช พร้อมหงษ์บริวารบินผ่านมาในเวหาส ฉะนั้น แทนที่พญานาคจะเกษมสันต์โสมนัสในพุทธาภินิหาร กลับเดือดดาลในจิต คิดเห็นผิดไปว่า พวกสมณะโล้นเหล่านี้ เหาะข้ามหัวตัวกูผู้มากด้วยอิทธิฤทธิ์ แม้เทพเจ้ายังยอมเป็นมิตรไม่คิดล่วงเกิน ชะรอยสมณะโล้นเหล่านี้จะเหาะเหินไปสู่เทวโลกสถาน ซึ่งความจริงจะไม่เหาะผ่านมาทางนี้ก็ยังไปได้ แต่สมณะโล้นเหล่านี้มีใจกำเริบรังควาน ครั้นเมื่อเหาะผ่านทางนี้ ก็จะเกลี่ยผงเผ่าเถ้าธุลีละอองเท้าให้ล่วงหล่นลงตรงศีรษะเราเป็นแม่นมั่น คงจะสำคัญตนว่า เป็นผู้วิเศษสุด เอาเถอะ! เ ราจะรั้งสมณะเหล่านี้ให้หยุดไม่ให้ไป ให้เธอแจ้งแก่ใจเสียบ้างว่า ยังมีผู้อื่นมีฤทธิ์แกว่นกล้าสามารถเหนือตน พ้นวิสัยที่สมณะจะข้ามโดยแท้ เมื่อพญานาคนึกแน่ใจตามวิสัยอันธพาล ทันใดนั้นก็สำแดงอภินิหารเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า นิรมิตกายาให้ใหญ่ยาว รวบรัดภูเขาสุเมรุด้วยขนดหางได้เจ็ดรอบ แล้วก็แผ่พังพานบังดาวดึงส์เทวสถานต่อนั้น ก็บันดาลให้เกิดควันและหมอกมืดมัวไปทั่วทั้งหมด มิให้แลเห็นสุเมรุบรรพตตลอดท้องฟ้า

ร ฏฺฐปาโล ตํ ทสฺวา เมื่อพระรัฐลาลได้เห็นความมืดมนอนธการ เช่นนั้น จึงกราบทูลถามสมเด็จพระภควันตบพิตรพิชิตมาร ว่าข้าแต่พระบรมศาสดาจารย์ผู้ร่มเกล้า แต่กาลก่อนข้าพุทธเจ้าเคยตามเสด็จพระบรมโลกนาถ ได้เห็นยอดภูเขาสุเมรุราชนั้น งามไปด้วยแก้ว ๗ ประการ บัดนี้เป็นไฉน สัตตรัตน์ชัชวาลย์จึงมิปรากฏ ดูหายไปหมดแม้แต่ภูเขาสัจภัณฑ์ ที่สุดแม้เมืองดาวดึงส์สวรรค์ก็แลไม่เห็น น่าหลากจิต สมเด็จพระธรรมสามิสรับสั่งว่า ดูราพระรัฐบาลอันความมืดมนอนธการซึ่งยิ่งใหญ่ไพศาลที่บันดาล แต่หากเกิดจากความอันธพานของพญานันโทปนันทนาคราชมามีจิตคิดประมาท ดูหมิ่นตถาคตและภิกษุทั้งหลาย จึงสำแดงเดชนิรมิตกายให้ยาวใหญ่ทั้งพังพาน ปิดบังเทวสถานแล้วทำให้มืดมนตลอดท้องเวหนที่เธอเห็นอยู่ในบัดนี้

ต ่อมา พระรัฐบาลก็ประณมกรอัญชลี ขอประทานโอกาส รับอาสาจะทรมานพญานาคราชให้สิ้นพยศ แต่พระตถาคตมิได้ประทานให้ ตรัสว่า เรื่องนี้มิใช่วิสัยที่รัฐบาลจะพึงอาสา ยังพระเถระต่างๆก็เข้ามาประทานโอกาส แต่สมเด็จพระบรมโลกาถมิได้ประทานให้ รับสั่งว่า ยังมิใช่วิสัยของท่านทั้งหมด จนถึงพระโมคคัลลนานเถรเจ้า เข้ามาประณตขอประทานโอกาส รับจะทรมานพญานาคราชให้สิ้นฤทธิ์ พามาเฝ้าสมเด็จพระธรรมสามิสรในเช้าวันนี้ สมเด็จพระมหานุนีก็ประทานโอกาสให้ ตรัสว่า เรื่องนี้ เป็นวิสัยของพระโมคคัลลานะ ด้วยมีกำลังอิทธิพละควรแก่จะรับงานอาสา ครั้นประทานโอกาสแล้ว พระศาสดาก็ทรงพาพระสงฆ์ทั้งหลายหลีกไปประทับรออยู่ที่ยอดภูเขา คอยชมพระเถรเจ้าสำแดงอภินิหาร ทรมานพญานาคราช

เ มื่อพระมหาโมคคัลานะได้รับประทานโอกาสก็มิได้รอช้า อาศัยอำนาจอิทธิบาทภาวนา นิรมิตกายเป็นพญานาคราชยาวใหญ่กว่าพญานันทนาคราชอีก ๑ เท่า รวบรัดพญานันโทปนันทะ บีบเข้ากับภูเขาสุเมรุนั้น ประหนึ่งว่า บุคคลเอาเชือกและชะเนาะมาขัน ลงลิ่ม เอาน้ำมันจากเมล็ดงา แม้พญานาคราชนั้นจะดิ้นอย่างใดก็ไม่หลุด ที่สุดจะบังหวนควันพ่นไฟร้ายแรงเท่าใด พระเถรเจ้าก็กลับทำให้ยิ่งใหญ่กว่าอีก ๑ เท่า ควันและไฟ กลับไป รมแผดเผา พญานาคนั้ให้อึดอัด และเร่าร้อนสุดที่จะทนทาน ต้องเปลี่ยนรูปเข้าต่อสู้กับปาฏิหาริย์ของพระเถรเจ้าในรูปใหม่แต่แม้จะสำแดง เดชโดยประการใดๆ ในที่สุดก็กลับร้าย ต้องพ่ายแพ้พระเถรเจ้าทุกประการ สุดท้ายก็ต้องจำแลงกายเป็นกุมารเข้าไปหาพระเถรเจ้าด้วยความเคารพ นอบนบยอมตนเป็นศิษย์ ไม่ขอต่อฤทธิ์ทุกประการ ทั้งกล่าวสรรเสริญอิทธิปาฏิหาริย์ของพระเถรเจ้าว่า ทรงคุณล้ำเลิศประเสริฐสุด แต่พระมหาโมคคัลลานะก็กล่าวเตือนให้หยุด ห้ามมิให้พูดต่อไปว่าดูกรพญานันโทปนันทะ เพราะอิทธิปาฏิหาริย์ทั้งหลายที่อาตมาสำแดงนี้ ยิ่งเป็นสิ่งเล็กน้อย ไม่อยู่ในพุทธวิสัย ด้วยเป็นคุณสมบัติของศิษย์ จะเสมอด้วยปาฏิหาริย์ของพระธรรมสามิสร ผู้เป็นพระบรมศาสดาจารย์ของเราหาได้ไม่ ถ้าท่านจะได้เข้าไปเฝ้าใกล้ๆ ได้สดับรับพระโอวาท ท่านก็จะเกิดความรู้ความสามารถกำจัดเวรและภัย ทั้งยังปลดเปลื้องข้อสงสัยนานาประการได้ด้วยปรีชาญาณวิเศษ ช่วยบรรเทากรรมกิเลสและภัยพิบัติอันจะพึงมี เป็นสง่าราศีให้ผ่องใส แม้ในเทวสมาคม มาเถิด นันโทปนันทะ เราจะพาท่านไปชื่นชมพระบรมโลกนาถ กล่าวแล้วพระเถรเจ้าก็พาพญานาคราชไปถวายบังคม ยอกรอัญชลี กราบทูลมอบพญาวาสุกรีแด่สมเด็จพระชินศรีพิชิตมาร ขอให้ทรงพระกรุณาโปรดประทานพระโอวาท

เ มื่อสมเด็จพระโลกนาถจะประทานอนุสาสนี จึงตรัสว่า ดูกรพญาวาสุกรีผู้เรืองยศ อันบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหมดผู้เกิดมา ย่อมปรารถนาความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ทุกประการ ดังนั้น บุคคลจึงมิควรจะประหัดประหารเบียดเบียนให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วยประการใดๆ แม้แต่ประทุษร้ายด้วยน้ำใจ ก็ไม่ควรคิด ไม่ควรจะถือตนว่ามีฤทธิ์ ไม่มีใครต่อต้านเพราะมิใช่วิสัยของผู้มียศศักดิ์อัครฐานจึงกระทำ ด้วยเป็นการก่อให้เกิดบาปกรรมทำลายฤทธิ์ เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจวาสนา สร้างศัตรูมาบีฑาให้เดือดร้อนไม่มีความสุข เกิดเป็นทุกข์เพราะมีฤทธิ์ผิดวิสัยแทนที่จะมีความสุขกายสุขใจได้ชื่นบาน ทั้งนี้ ก็เพราะใช้อำนาจผิดมาตรฐานของผู้เป็นใหญ่ นันโทปนันทะ จงหมั่นสำรวมใจด้วยสติดำริรั้ง ระวังใจให้หยุดยั้งอย่าผลุนผลัน อย่าคิดผิดไปว่าความสำคัญอยู่ที่การแผลงฤทธิ์ หรือความศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่การสำแดงอำนาจ นั่นเป็นการผิดพลาดอย่างน่าสงสาร นันโทปนันทะ อันผู้มีอภินิหารรุ่งเรืองด้วยฤทธิ์และอำนาจ จะต้องเป็นผู้สามารถเหนี่ยวรั้งใจไว้ได้เป็นอย่างดี โดยปกครองอินทรีย์คือ กายใจให้อยู่สันตินิยม ไม่ทำอะไรตามอารมณ์โดยมิได้วิจัยวิจารณ์ นันโทปนันทะ จงมั่นในปรีชาญาณอัตตสมบัติ สมาทานเบญจวิรัติไว้เป็นทุนสำหรับตน ดำเนินตามแนวสาธุชนในยปางก่อน ให้เกิดสุขสถาพรสัมฤทธิผล พ้นจากอภัพพบุคคลวิสัยสัตว์ ได้ซึ่งมนุษย์สมบัติในภายหน้า เป็นปัจจัยให้เข้าสู่มรรคาแห่งพระนิพพาน หมดทุกข์เดือดร้อนทุกประการ ฉะนี้เถิด

เ มื่อพญานันโทปนันทนาคราช ได้สดับพระพุทธโอวาทที่ทรงพระกรุณาโปรด หยั่งเห็นทุกข์เห็นโทษและภัยพิบัติในบาปกรรมที่ทำมา ก็เกิดปิติศรัทธาในพระพุทธศาสนา น้อมเศียรเกล้าลงบูชาขอขมาโทษที่ล่วงเกินในพระรัตนตรัย สมาทานมั่นอยู่ในเบญจวิรัติ พร้อมด้วยกัลยาณธรรมสุปฏิบัติเป็นอันดี

ค รั้นสมเด็จพระชินศรีทรงเห็นพญานันโทปนันทะ เกิดศรัทธาอุตสาหะมั่นคงเช่นนั้นแล้ว ก็ทรงอนุโมทนาและอำลาพญานาคราช พาพระสงฆ์เหาะมาทางอากาศ จนบรรลุถึงนิวาสสถานของท่านเศรษฐีอนาถปิณฑิกะ อริยบุรุษพุทธเวไนย เสด็จเข้าไปประทับนั่งยังวรอาสน์ ซึ่งท่านมหาเศรษฐีปูลาดตกแต่งไว้เป็นอันดี ต่อนั้น ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีจึงทูลถามถึงความล่าช้าที่ทรงพาพระสงฆ์มาเวลาสายผิดสัง เกต สมเด็จพระโลกเชษฐ์ก็ทรงสำแดงเหตุที่ให้พระมหาโมคคัลลานะ ทำสงครามกับนันทนาคราช จนพญานาคปราชัย และมั่นอยู่ในศาสโนวาทแล้วจึงกลับมา ครั้นท่านเศรษฐีได้สดับก็เกิดมุทิตาปสันนาการ น้อยถวายเทยยทานเป็นงาน ฉลองชัยชำนะของพระพิชิตมารถึง ๗ วัน จึงเสร็จพิธี ดังนั้ย ชัยชำนะของพระชินศรีจึงเป็นชัยชำนะที่สมบูรณ์ด้วยความสวัสดีโดยธรรมวิเศษ จัดเข้าในชัยมงคลอุดมเดชของพระบรมศาสดา ขอชัยมงคลดังพรรณนามาจึงมีแด่มวลพุทธบริษัทตามสมควรแก่วิสัยในการกุศล ขอยุติข้อความในชัยมงคลแต่เพียงนี้.

——————————

(บรรยาย ๒๐ มกราคม ๒๔๙๙)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น