วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ฉัททันตปริตร

ตำนานฉัททันตปริตร

ฉ ันทันตปริตร บทนี้ ไม่ปรากฏว่าใช้สวดตามบ้าน ไม่ว่าจะเป็นงานพิธีใดๆ มานานแล้ว สำหรับภายในวัดยังมีสวดกันบ้าง ก็น้อยเต็มที ทั้งนี้ เนื่องจากพระผู้สวดเห็นว่าไม่มีคนนิยม ก็เท่ากับไม่ให้ความสนับสนุนทางกำลังใจ ความพยายามท่องก็ไม่มี แม้เดิมจะท่องไว้ได้ เพราะความจริงก็ไม่มากอะไรนัก แต่ครั้งไม่ค่อยจะใช้สวด นานเข้าก็เลือน หลง ลืม ในที่สุดก็สวดไม่ได้

แ ต่เคราะห์ดีที่มนต์บทนี้ ยังเป็นที่นิยมของชาวป่าชาวเขาอยู่ แม้คนหัวบ้านหัวเมืองชั้นนอก ก็ยังนิยมท่องไว้บริกรรม ด้วยถือเป็นมนต์สำหรับเดินทางเข้าป่า ภาวนาป้องกันภัยพิบัติ ด้วยนิยมว่า พระปริตรบทนี้จะช่วยให้ปลอดภัย ไม่ประสบอันตราย ไม่พบเห็นสัตว์ร้าย อันจะทำให้ตื่น ตกใจกลัว คนเดินป่า มักนิยมไพร นับถือมาก โดยเฉพาะพรานป่า ต่อช้าง คล้องช้าง ต้อนช้างเข้าเพนียด สำหรับควานช้าง นับถือเป็นพิเศษ ใช้เป็นคาถาบังไพร คุ้มกันมิให้อันตรายใดๆ เบียดเบียน เรียกว่า ฉัทททันตปกาสิต ถือว่าพญาช้างฉัททันต์ซึ่งเป็นเจ้าป่าใหญ่ ห้ามมิให้สัตว์ร้ายทั้งหลายเบียดเบียนแล้ว ก็เป็นอันปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง ทั้งยังถือว่า เป็นมนต์กำบังนัยน์ตาสัตว์ มิให้สัตว์ทั้งหลายมองเห็นอีกด้วย เรียกว่า คาถาบังไพร เป็นมนต์สำคัญบทหนึ่ง

ดังนั้น พระโบราณาจารย์จึงยกขึ้นเป็นพระปริตรบทหนึ่ง ไว้ในมนต์ ๑๒ ตำนาน

ต ำนาน ฉัททันตปริตร หรือ เรื่องพญาช้างฉัททันต์ นี้ มาในฉัททันตชาดก เป็นเรื่องพิสดารยืดยาวมาก จินตกวีไทย ทั้งเหนือและใต้ ได้ร้อยกรองเป็นวรรณคดีไว้ไพเราะยิ่งนัก ในสมัยก่อน พวกมหรสพ ทั้งนาฏศิลป์และนาฏดนตรี เคยได้นำออกแสดงให้คนชมเสมอ ปรากฏว่า เป็นเรื่องที่อยู่ในความนิยมไม่น้อย พอได้ยินเสียงว่า พญาฉัททันต์ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องของพญาช้างสำคัญ เป็นพญาช้างบรมโพธิสัตว์ แม้พวกขอทานจำพวกวณิพก มีเพียงกลองกับฉิ่ง สองคนผัวเมียก็ชอบเอาเรื่องนี้ไปร้องตามหมู่บ้าน บางหมู่บ้านพอใจฟัง ชวนกันขอให้ร้องให้ฟังจนจบเรื่อง แล้วให้รางวัลจนพอใจ มาบัดนี้ดูหายไป คนรุ่นนี้เห็นจะมีรู้จักกันน้อยคน

จ ะได้นำเรื่องพญาฉัททันต์ เจ้าของคาถาบทนี้มาเล่าพอเป็นเครื่องประดับความรู้ แต่จะขอเล่าพอได้ความ ผู้ประสงค์จะทราบเรื่องราวโดยพิสดาร โปรดไปดูหนังสือฉัททันตชาดกนั้นเถิด เรื่องมีว่า

ค รั้นนั้น ช้างโขลงใหญ่มีจำนวนมาก อาศัยอยู่ในป่าใกล้สระฉัททันต์ในป่าหิมพานต์ ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นช้าง เป็นบุตรช้างจ่าโขลง สีกายเผือกผ่องงาม มีร่างกายสูงใหญ่ งาทั้งคู่ก็งาม มีกำลังเหนือช้างทั้งหลาย เมื่อบิดาสิ้นอายุแล้ว ได้รับยกย่องจากช้างทั้งหลายให้เป็นพญาช้าง จ่าแห่งโขลงนั้น เพราะเป็นเจ้าแห่งโขลงช้างในเขตแคว้นสระฉัททันต์ จึงได้นามว่า พญาฉัททันต์

พญาช้างฉัททันต์ นั้น มีนา งช้างเป็นชายา ๒ เชือก ชื่อว่า มหาสุภัททา เชือกหนึ่ง ชื่อว่า จุลสุภัททา เชือกหนึ่ง ความน้อยเนื้อต่ำใจตามวิสัยของเมียน้อยเมียหลวง ก็มีในนามช้างทั้งสองนั้นเป็นประจำ วันหนึ่งพญาฉัททันต์หักพวงมะม่วงมีผลงาม ๒ พวง ประทานแก่ชายาทั้งสอง บังเอิญพวงที่ประทานแก่จุลสุภัททามีมดแดงติดไปโดยไม่ทันเห็น ทำให้มดแดงกัดจุลสุภัททา แม้จะไม่มาก แต่เพราะนางจุลสุภัททา มีสันดานมากด้วยโทสะ คิดไปว่าสามีลำเอียงแกล้ง ก็ผูกอาฆาตคิดตรอมใจ แม้พญาฉัททันต์จะเล้าโลมต่างๆนานา ขอให้อดโทษ นางก็ไม่ใยดีและไม่ปรารถนาจะคืนดีเพราะความแค้นไม่กินน้ำกินหญ้า ภายหลังนางจุลภัททาก็ล้มเจ็บ และในที่สุดก็ตายในเร็ววัน แต่ด้วยอานิสงส์ที่นางได้ถวายผลไม้พระปัจเจกพุทธเจ้าได้นำให้นางไปบังเกิดเป ็นพระราชธิดาของกษัตริย์มัททราช มีรูปโฉมโนมพรรณงามยิ่งนัก พระบิดาขนานนามว่า สุภัทราราชกัญญา ครั้งนางเจริญวัยแล้ว พระเจ้ามัททราชได้ส่งไปถวายเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี

น ับแต่นางสุภัทราเกิดมา พอมีความรู้สึกเดียงสา นางก็รำลึกชาติหนหลังเมื่อครั้งเป็นนางช้างอย่างแจ่มชัดทุกประการ ระลึกเห็นที่อยู่และเพื่อนฝูงช้างตลอดจนพญาฉัททันต์ผู้เป็นสามีได้ ที่สุดแม้การกระทำของสามี ที่ทำให้พระนางโกรธแค้น ครั้นนึกได้แล้ว กำลังแห่งความอาฆาตพยาบาทและทวีแรงโหมนางเคียดแค้นทันที ดังนั้น พระนางสุภัทราจึงแสร้งทำประชวร แม้พระราชสามีรับสั่งถาม ก็ทูลว่าแพ้พระครรภ์ต้องการช้างพญาฉัททันต์ พระเจ้าพาราณสีต้องประชุมพรานป่าทั้งหมดในที่สุดก็คัดได้พราน โสณุตดร ที่มีความสามารถเป็นพิเศษ เดินทางไปตามแนวมรรคาตามแผนที่ซึ่งพระนางชี้แจง ได้พยายามฆ่าพญาฉัททันต์เป็นเวลาหลายปี แต่แล้วก็คิดอุบายได้ โดยพยายามลักจีวรของพระปัจเจกพุทธเจ้า คลุมร่างพรางความชั่วร้ายของตน ด้วยช้างทั้งหลายในไพรนั้น เคารพบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้า เห็นพรานโสณุตดรเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไป จึงวางใจให้พรานประกอบวิธีฆ่าพญาฉัททันต์จนสำเร็จ พญาฉัททันต์ต้องอาวุธปืนยาวของโสณุตดร แม้จะลำบากยากกายเพียงใด ก็ยังใช้งวงคว้าคอพรานร้ายไว้ได้ ตั้งใจจะเหยียบย่ำเสียให้ตาย แต่ครั้นเห็นผ้ากาสาวพัสตร์คลุมตัวอยู่ก็ละอายแก่ใจด้วยความเคารพ ซึ่งตระกูลฉัททันต์เคยเคารพมาก่อน จึงได้ตำหนิพราณโสณุตดรที่ประพฤติชั่วร้าย ใช้ผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นบริขารของท่านผู้ทรงศีล ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาดหุ้มห่อกาย อันไม่สมควรแก่ภาวะ ตลอดแก่การกระทำของพรานเลย ไม่ขวยแก่ใจ จัดเป็นบาปหนักมาก แล้วได้ถามถึงความประสงค์ที่ได้พยายามมาฆ่าพระองค์

พรานโสณุตดรได้เล่าถวายด้วยความกลัวตลอดทุกประการ

เ มื่อพญาฉัททันต์ ราชาแห่งโขลงช้างในป่าหิมพานต์ได้สดับคำพรานโสณุตดรเล่าให้ฟังก็สลดพระทัย รับสั่งว่าจริงอย่างแกเล่า โสณุตดร ถ้าไม่ใช่นางจุลสุภัททาชายาเดิมของฉันไปเกิด และด้วยความโกรธ ผูกอาฆาตทั้งระลึกชาติได้ แนะนำลู่ทางให้แกมาแล้ว อย่างไรแกจะรู้จักฉัน และเล็ดลอดมาถูก เป็นอันว่า พระนางพยายามให้แกฆ่าฉันจนสำเร็จ เพราะความพยาบาท โสณุตดรเอย ไม่ใช่เพราะแกผิดดอก ฉันอยากจะโทษว่า เพราะฉันเองต่างหากผิด เพราะความรักตัวการนั่นแหละร้ายกาจ เอ็นดูพระนางและเผลอไปโดยไม่ทันสังเกต ทำให้พระนางน้อยใจ โดยหาเจตนามิได้เลยและก็เพราะพระนางเองรักฉันไม่ใช่น้อย จึงน้อยใจ แค้นถึงอาฆาต และยอมตาย เพราะความรักอีกเช่นกัน และแล้วก็ไม่ลืม ผูกใจจะล้างผลาญฉัน จนแม้ไปเกิดเป็นอัครมเหสีแล้ว ก็ไม่ทอดทิ้งความอาฆาต ส่งเธอมาฆ่าฉันจนสำเร็จ ความรักนี้ร้ายกาจมาก สร้างเวร สร้างภัย ให้ชอกช้ำ เป็นทุกข์ ให้ฆ่ากันได้ถึงเช่นนี้ โสณุตดรเอย ฉันขอยุติแต่เพียงนี้แหละ โสณุตดร ลุกขึ้นเถอะ จงทอนงาของฉันทั้งสองข้างไปถวายพระนางชมให้สำเร็จตามที่ผูกใจเจ็บไว้ แล้วทูลพระนางว่า ฉันได้ล้มตายสมควรปรารถนาของพระนางแล้ว ครั้งสั่งแล้วก็หมอบกายลงให้พรานโสณุตดรเลื่อยงาทั้งสองข้าง แม้จะปวดร้าวทรมานเพียงใด ก็ทรงทนให้พรานโสณุตดรตัดงาด้วยเลื่อยจนสำเร็จ แล้วตรัสถามพรานโสณุตดรว่าแกพยายามดั้นด้นป่าข้ามภูเขามามากมายกว่าจะถึงฉัน เป็นเวลานานเท่าใด

กว่า ๗ ปีแล้ว พระเจ้าข้า” พรานโสณุตดรทูล

โ สณุตดร” พญาฉัททันต์รับสั่งต่อไป “ถ้าแกจะกลับทางเก่าแกอาจตายตามทาง เพราะภัย ซึ่งขณะนี้ช้างบริวารของฉันกำลังค้นหาตัวแก เพื่อจะฆ่าอยู่ทั่วไป ยังจะสัตว์ร้ายอื่นๆ อนึ่ง ภาระที่จะต้องหาบหามงาทั้งสองข้างก็หนักอยู่ไม่น้อย เอาเถอะฉันจะอนุเคราะห์ให้แกและพระนางสำเร็จความปรารถนาโดยเร็ว และให้ถึงพระนครพาราณสีน้อยวันที่สุดและให้ปลอดภัยทุกประการ แกจะไม่ต้องประสบภัย ต้องมัวไปหลบหลีกซ่อนเร้นแต่อย่างใดเลย รับสั่งแล้วก็ยกวงขึ้นจนบนกระพองพระเศียร ทรงอธิษฐานว่า “สลฺเลน วิทฺโธ พฺยถิโตปิ สนฺโต” เป็นอาทิ ความว่า “ เราถูกลูกศรเสียบแทงแล้ว แม้เวทนาจะครอบงำ ก็สงบใจ ไม่ประทุษร้ายในผู้ทรงผ้ากาสาวะ ถ้าคุณนี้เป็นความจริง ดังที่เราผู้เป็นหญาช้างได้ตั้งใจไว้แล้ว ขอบรรดาสัตว์ร้ายในป่า อย่าได้มากล้ำกรายผู้นี้เลย” เมื่อส่งพรานโสณุตดรไปแล้ว ก็ฟุบกายลงทำกาลกิริยาในขณะนั้น

พ รานโสณุตดรอภิวาทลาพญาฉัททันต์ ด้วยความเคารพ พร้อมด้วยระลึกถึงพระคุณของพญาฉัททันต์อยู่เป็นกำลัง ทั้งรู้สึกสลดใจ เสียดายที่พญาฉัททันต์ต้องถึงแก่ความตายด้วยน้ำมือของตน ทั้งด้วยบัญชาของนางสุภัทรา อัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ที่ทรงอาฆาตอย่างร้ายแรง พรานโสณุตดรพยายามเดินมาตามทางที่พญาฉัททันต์แนะนำเพียง ๗ วัน ก็มาถึงเมืองพาราณสีโดยสวัสดีทุกประการ และเอางาทั้งคู่ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระนางสุภัทรา ตามพระราชประสงค์ พร้อมทั้งคำสั่งของพญาฉัททันต์นั้นด้วย

เ มื่ออัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสีได้ทอดพระเนตรงาก็จำได้ ว่าเป็นงาของพญาฉัททันต์ พระสวามีของพระนาง ปลื้มพระทัย พระราชทานรางวัลแก่พรานไพรโสณุตดรมากมาย หมดความอาฆาต เพราะสมพระทัยแล้ว ความพยาบาทได้หยุดลง คงเหลือแต่ความรักเดิมของพระนางเมื่อเป็นนางช้าง คราวนี้ก็ครุ่นคิดถึงความรัก สงสารพญาฉัททันต์ พระสวามีที่รักที่ต้องตายเพราะพระนางเอง ทรงสลดพระทัย และตั้งหน้าแต่เศร้าโศก ด้วยเสียพระทัยที่ทำผิดไปอย่างมาก และในที่สุดก็สิ้นพระชนม์ชีพด้วยความตรอมพระทัยนั้นเอง

เ รื่องนี้แสดงว่า คำอธิษฐานของพญาฉัททันต์ได้เกิดศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระปริตรป้องกันภยันตรายเห็นประจักษ์ จึงเป็นที่นิยมและได้รับยกย่องของท่านผู้รู้ทั้งหลาย นับถือมนต์นี้เป็นพระปริตรสำคัญดังกล่าวแล้ว ฯ.

———————–

(บรรยาย ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๙๘)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น