วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เทวตาทิสสทักษิณา นุโมทนากถา

ตำนานเทวตาทิสสทักษิณา นุโมทนากถา

เทวตาทิสสทักษิณานุโมทนาคาถานี้ มาในพระวินัยปิฎก มหาวัคค์ เภสัชชขันธ์ อันเป็นมนต์สำหรับพระสงฆ์สวดอนุโมทนาในงานพิธีขึ้นบ้านใหม่เรือนใหม่ เปิดร้านใหม่อาคารใหม่ เฉลิมฉลองอาคารที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ในเวลาที่พระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วอนุโมทนา ต่อ ยถา สพฺพี เพื่อความสุขสวัสดีแก่งานพิธีและถิ่นฐาน ตลอดจนเจ้าของบ้านตามความนิยม

ความจริง จากการได้เห็นได้ยินของเราในเวลานี้ จนเป็นที่ซึมทราบได้ดีว่า การขึ้นบ้านใหม่เรือนใหม่ก็ดี การเปิดอาคารใหม่ร้านใหม่ก็ดี แม้การย้ายไปอยู่ที่ใหม่ก็ดี โดยเฉพาะคนไทยชาวพุทธทั่วๆไปแล้วนิยมให้มีการทำบุญ เลี้ยงพระ ถ้ามีกำลังพอจะทำได้ ยิ่งกว่านั้น ยังจัดให้มีการบูชาเทวดาอารักษ์ พระภูมิเจ้าที่ ถึงจัดตั้งศาลพระภูมิ เพื่อเป็นที่เคารพบูชา เชื้อเชิญญาติมิตร วิสสาสิกชนคนคุ้นเคยนับถือกัน ตลอดผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านนั้นๆ มาเลี้ยงดู เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพนับถือทำกันเป็นประเพณีทีเดียว ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นการทำชอบ ควรจะใส่ใจทำทั่วๆกัน ในที่นี้ควรจะทราบถึงวิธีทำไว้บ้าง เพื่อประดับความรู้ แต่จะกล่าวเฉพาะพิธีที่ผู้ใหญ่นิยมทำกันสำหรับชาวพุทธอย่างเดียว

ต่างว่าเราจะขึ้นบ้านใหม่ เรื่องก็มีว่า เมื่อทำความสะอาดสถานที่เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องดำเนินขึ้นต่อไป ดังนี้

. ถ้านับถือฤกษ์ยาม ก็รีบไปหาฤกษ์ หายามเสียก่อนจะได้กำหนดวันเวลา แต่ถ้าไม่นิยม ก็กำหนดเอาเอง ดูวันว่างงานว่างการ ถ้างานมาก ก็แหวกเวลางานเอาเวลาใดเวลาหนึ่ง

. บอกญาติมิตร คนคุ้นเคย เชื้อเชิญคนที่ควรจะไปร่วมงาน เพื่อเป็นศิริมงคลแก่บ้านและเราผู้เป็นเจ้าของบ้าน

. นิมนต์พระสงฆ์มีจำนวนตามที่ประสงค์ แต่ต้อง ๕ รูป เป็นอย่างต่ำ

. จัดตั้งเครื่องโต๊ะ ตั้งเครื่องบูชา ปูลาดอาสนะพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ไว้ให้พร้อม เว้นแต่พระพุทธรูปยังไม่ต้องเอาไปตั้ง ถ้าของเรามีเองสำหรับบูชาประจำบ้าน ก็เชิญมาตั้งพักไว้ข้างล่างก่อน รอจนกว่าจะได้ฤกษ์ หรือจนกว่าจะถึงเวลาอันควรต่อไป คือ เวลาเมื่อพระสงห์มาพร้อมกันแล้ว

. เมื่อพระสงฆ์มานั่งยังอาสนะพร้อมดีแล้ว เจ้าของบ้านควรจะหาผู้ใหญ่หรือคนที่มีเกียรติ หรือคนที่มั่นในศีลธรรมสักคนหนึ่ง เชิญพระพุทธรูปประจำบ้านของเราจากที่พักขื้นบนเรือน ไปตั้งยังโต๊ะที่จัดสักการะไว้สวดมนต์ เจ้าของบ้านทั้งสามี ภรรยา บุตร ก็เดินตามผู้เชิญพระพุทธรูปไป แปลว่าเดินตามพระ ขณะนี้พระสงฆ์ได้พร้อมกันเจริญเมตตาจิตสวดชัยมงคลคาถา (ชยันโต) เพื่อเป็นศิริมงคลแก่เจ้าของบ้าน

เมื่อตั้งพระพุทธรูปแล้ว เจ้าของบ้านพึงเข้าไปที่หน้าโต๊ะพระ จุดเทียน ธูป บูชาพระรัตนตรัย ถ้าพระยังสวดชยันโตไม่จบ ก็พึงนั่งฟังสวดด้วยคารวะไปจนจบ ต่อนั้น ก็เริ่มรับศีล ฟังสวดมนต์ต่อไป

ในขณะที่ฟังสวดนี้ ถ้านิยมบูชพระภูมิเจ้าที่ ก็พึงปลีกเวลาไปจุดธูปเทียนบูชาพระภูมิเสียก่อน แล้วจึงมาฟังสวดมนต์สืบไปจนจบ ถ้าสวดเช้าฉันเช้า หรือสวดก่อนเพลแล้วฉันเพล หรือสวดเย็นฉันเช้าก็ตาม เมื่อฉันเสร็จแล้วถวายเครื่องสักการะไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนาสวดเทวตาทิสสทักษิณานุโมทาคาถา เจ้าของบ้านกรวดน้ำอุทิศบุญแก่หมู่ญาติและเทวดา ตลอดเจ้าที่เจ้าทาง ต่อนั้นพึงให้พระสงฆ์ผู้เป็นประธานประพรมน้ำมนต์เจ้าบ้านและบุตรหลาน พรมบ้านเรือน และเจิมประตูเรือน ประตูห้อง ด้วยแป้งกระแจะจันทน์ และประพรมด้วยของหอม เพื่อเป็นศิริมงคลด้วย

เรื่องการย้ายที่อยู่ใหม่ก็ดี ขึ้นบ้านใหม่ก็ดี ในด้านพระสงฆ์ ก็ปรากฏว่านิยมทำกัน เช่น การย้ายพระจากวัดนี้ ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโน้นที่สุดแม้ย้ายจากคณะนี้ ไปอยู่คณะโน้นภายในวัดเดียวกัน ก็นิยมทำ ที่มีกำลังน้อยก็ทำแต่น้อย แต่ก็พยายามรักษาพิธีนี้ไว้ ในด้านพระ ปรากฏว่ายังมีเพิ่มการอัญเชิญหนังสือเทศน์บ้าง พระไตรปิฎกเล่มบ้าง ใส่โตกหรือตะลุ่ม หรือพานยกตามพระพุทธรูปไปเป็นอันดับสองจึงถึงพระสงฆ์องค์สำคัญในการนี้ ถ้าย้ายไปเป็นเจ้าอาวาส ยังกำหนดให้มีพระสงฆ์ติดตามไปด้วย ๔ รูป เป็นอย่างต่ำเมื่อได้ไปร่วมพิธีงานเช่นนี้แล้ว และพิจารณาโดยถี่ถ้วนจะเห็นว่าเป็นประโยชน์ดี น่ารักษาบำรุงไว้เป็นเนติสืบไป สำหรับคนไทยอย่างยิ่ง

ความจริง งานขึ้นบ้านใหม่เรือนใหม่ เปิดร้านโรงใหม่ ก็รวมอยู่ในการเฉลิมฉลองบ้านเรือน และความสำเร็จของความตั้งใจ เพื่อความเป็นหลักฐานมั่งคงของเจ้าของร้านนั่นเอง

อนึ่งเล่า การทำบุญในเรื่องการฉลองบ้านใหม่เรือนใหม่นี้ ก็เป็นเรื่องที่นิยมทำกันมาแต่ปางก่อน ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า พระสัมพุทธเจ้าได้เคยเสด็จไปในงานเช่นนี้หลายคราว และได้ทรงตรัสคาถาอนุโมทนาเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่เจ้าของไว้ ซึ่งพระสงฆ์สาวกก็ได้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาทสืบมาจนทุกวันนี้ จะขอนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังสืบไป เรื่องมีว่า

สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ที่พระวิหารใกล้หมู่บ้านปาตาลี อันเป็นนิคมใหญ่ชายแดนแคว้นมคธรัฐในราตรีวันหนึ่งทรงแสดงธรรมแก่บรรดาอุบาสก ชาวบ้านปาตลีให้อุบาสกเหล่านั้น ได้เลื่อมใสอาจหาญในการพระศาสนาร่าเริง สดชื่นในธรรม ล่วงเวลาไป ๔ ทุ่มเศษ จึงได้ทรงเตือนให้อุบาสกเหล่านั้นได้รู้ตัวว่า สมควรเวลาหยุดการเฝ้าได้แล้ว อุบาสกทั้งหลายรับพระโอวาทโดยคารวะลุกจากที่นั่ง ทำประทักษิณแล้วกลับไป

ครั้นอุบาสกเหล่านั้นกลับไปไม่นาน พระองค์ก็เสด็จเข้าประทับในสุญญาคารเรือนว่าง สงัดปราศจากการรบกวนมีความสงบสุขทุกประการ

ประจวบในเวลานั้น เป็นเวลาที่มหาอำมาตย์แห่งพระนครราชคฤห์แคว้นมคธรัฐ ๒ นาย คือ สุนีธะ๑ วัสสการะ ๑ รับพระราชโองการของพระเจ้าพิมพิสารมหาราช ให้ออกมาดำเนินการสร้างนิคมปาตลีนั้นให้เป็นเมือง ด้วยอยู่ในสถานเป็นทำเลที่เหมาะสมแก่ชัยภูมิของการตั้งเมืองมาก เพื่อตัดกำลังราชสกุลวัชชี พระนครไพสาลี อันเป็นรัฐหนึ่งซึ่งรุ่งเรืองในสมัยนั้น เพราะมีอาณาเขตติดต่อกัน

ในเวลาใกล้รุ่งของราตรีนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลุกขึ้นตรวจดูสัตว์โลก ผู้ที่ควรจะได้รับอมตธรรม ซึ่งพระองค์จะพึงทรงพระเมตตาประทาน ด้วยทิพพจักษุอันบริสุทธิ ได้ทรงเห็นเทพยดาในประเทศนั้นทั้งมวล มีความยินดี พอใจยินยอมให้ที่นั้นปลูกสร้างได้ทุกสิ่งตามประสงค์ เป็นเสมือนท่านสุนีธะ และวัสสการะ มหาอำมาตย์ ได้รับเทวบัญชาของท้าวสักกเทวราช ซึ่งทรงพอพระทัยประทานให้

รุ่งขึ้นทรงรับสั่งพระอานนทเถรเจ้า ประหนึ่งว่าทรงพยากรณ์ให้ปรากฏการณ์ไว้ว่า “ อานนท์ นครปาตลีบุตร ที่มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะสร้างนี้ เมื่อปัจฉิมรุ่งราตรีอรุโณทัย ตถาคตได้เห็นเทพยดาทั้งหลาย ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย มีความยินดีพอใจยอมให้ที่นั้นปลูกสร้างตามความประสงค์ อานนท์ ต่อไปเมื่อหน้า นครปาตลีบุตรนี้จักเป็นหัวเมืองเอก จักเป็นทำเลที่ประชุมแหล่งการค้า จักเป็นที่อยู่ของอารยชน และพ่อค้าพานิชย์นานาชาติจักมาประชุมประกอบอาชีพ ปาตลีบุตรนครจักถาวรรุ่งเรือง เป็นยอดเมืองในภายหน้า อานนท์ แม้อันตรายใดๆ ในภายนอก ก็จะไม่เกิดแก่ปาตลีบุตร นอกจากภัย ๓ ประการ คือ อัคคีภัย อุทกภัย และภัยจากการแตกร้าวกันเองในภายในของผู้ครองนคร

พุทธพยากรณ์นี้ นอกจากจะทราบทั่วกันในหมู่พระสาวกแล้ว น่าที่จะล่วงรู้ไปถึงมหาอำมาตย์ผู้สร้างนครปาตลีบุตรและชาวเมืองเป็นแม่นมั่ นก็แหละครั้นสร้างนครเสร็จแล้ว ท่านมหาอำมาตย์สุนีธะ และวัสสการะ ได้อาราธนาพระผู้มีพระภาคเขจ้าและพระสงฆ์ไปในงานเข้าเมืองใหม่ เป็นการฉลองสมโภชนครใหม่ตามวิสัยของคนรัก เคารพนับถือเทวดา ก็ทำการบวงสรวง บูชาสักการะเทวดาฟ้าดินนานาประการ ถวายอาหารอันประณีต อังคาสพระสงฆ์ มีองค์พระพุทธเจ้าเป็นประธาน ครั้นเสด็จภัตตกิจแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคาถาอนุโมทนา มีคำเริ่มต้นว่า ยสฺมิ ํ ปเทเส เป็นอาทิ ซึ่งมีใจความของอนุโมทนากถานั้นว่า

ปกติของคนที่เป็นบัณฑิต ไม่ว่าจะไปอยู่ประเทศใด ถิ่นใดย่อมเลี้ยงดูสมณะผู้ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีลาจารวัตร บำเพ็ญบุญอุทิศให้แก่เทวดา บูชาสักการะเทพเจ้าในถิ่นนั้น เพราะธรรมดา ผู้ที่ได้รับบูชา ย่อมบูชาตอบ ผู้ได้รับการยกย่องนับถือ ผู้ที่ได้รับบูชา ย่อมบูชาตอบ ผู้ได้รับการยกย่องนับถือ ย่อมยกย่องนับถือตอบ ต่อไปย่อมตามอนุเคราะห์ผู้นั้นให้ปลอดภัย ได้สุข เหมือนมารดาเลี้ยงบุตรที่เกิดจากอุทร อนึ่ง คนที่เทวดาอนุเคราะห์แล้ว ย่อมประสบกิจการที่เจริญตลอดไป

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสอนุโมทนสแก่ท่านมหาอำมาตย์สุนีธะและวัสสการะแ ล้วก็เสด็จกลับ จึงท่านมหาอำมาตย์ทั้งสนองได้ติดตามส่งเสด็จด้วยคารวะอย่างใกล้ชิด โดยตั้งใจกันไว้ว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกทางประตูใด จะให้ชื่อประตูนั้นว่า ประตูโคตมะ และเสด็จข้ามแม่น้ำคงคา หน้าเมืองโดยท่าใด จะให้ชื่อท่าน้ำนั้นว่า ท่าโคตมะ เพื่อเป็นมงคลแก่ประตูและท่าน้ำ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากนครปาตลีบุตร ประทับยืนอยู่ที่ท่าน้ำ แม่น้ำคงคา ซึ่งในสมัยนั้นมีน้ำมาก เต็มเปี่ยม กาเกาะอยู่ริมฝั่งก็ดื่มกินได้ ทรงทอดพระเนตรเห็นคนจัดแจง เรือ แพ เตรียมข้ามกันอยู่ แต่มิทันที่การจัดเรือแพ จะสำเร็จเรียบร้อย พระผู้มีพระภาคเจ้าก็พลันอันตรธานหายไปในที่นั้น ไปปรากฏพระกายอยู่ฝั่งโน้นด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ชั่วลัดนิ้วมือเดียว พร้อมภิกษุสงฆ์ พร้อมกับเปล่งคาถาอุทานว่า เย ตรนฺติ อณฺณวํ สรํ เป็นอาทิ ความว่า คนจะข้ามแม่น้ำ ข้ามทะเล ก็ทำสะพานข้ามหรือใช้เรือข้าม ส่วนคนมีปัญญาแม้จะไม่ใช้เรือแพ ก็สามารถข้ามได้เหมือนกัน

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปแล้ว ท่านมหาอำมาตย์จึงขนานนามประตูพระนครที่พระสัมพุทธเจ้าเสด็จออกว่า โคตมทวาร ประตูโคตมะขนานนามท่าน้ำนั้นว่า โคตมติฏฐะ ท่าโคตมะ ตามความประสงค์ที่ตั้งไว้แต่แรก เมื่องปาตลีบุตรนี้ ต่อมาภายหลังเจริญรุ่งเรืองมาก ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระนครหลวงแห่งมคธรัฐ ในรัชกาลกษัตริย์โมริยะวงศ์สมัยอโศกมหาราชเป็นผู้เรืองอำนาจโดยธรรม ปกครองนครสมจริงดังพุทธพยากรณ์โดยอนาคตังสญาณ ซึ่งตรัสประทานไว้ เป็นที่รู้แจ้งชัดกันทั่วไปในหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิต ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต พากันนิยมในพระพุทธภาษิตบทนี้ ทั้งมีความยินดีพอใจในการนำมาใช้สวดอนุโมทนาในงานพิธีขึ้นบ้านใหม่เรือนใหม่ เปิดร้านใหม่อาคารใหม่ ตลอดถึงเฉลิมฉลองสมโภชสถานที่ซึ่งสร้างสำเร็จแล้ว เพื่อเป็นศิริมงคลตามเยี่ยงอย่างในเรื่องเบื้องต้นที่นำมา ขออานุภาพคาถาพุทธพยากรณ์อันศักดิ์สิทธิ์จงเป็นผลสัมฤทธิ์อำนวยสุขสวัสดิ์แก ่มวลพุทธบริษัท ตามควรแก่วิสัยในการกุศล ขอยุติความตามยุบลแห่งเทวตาทิสสทักษิณานุโมทนคาถาแต่เพียงนี้.

————————-

คติธรรม

คนหูไว ตาไว ย่อมได้เปรียบ

โบราณเทียบ หูพญา กับตาแร้ง

ถ้าทำเป็น หูตะกร้า ตาตะแกรง

เป็นเสียแรง เรียนรู้ คนดูเบา

ธรรมสาธก”

(บรรยาย ๑๒ กันยายน ๒๔๙๙)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น