วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

อนัตตลักขณสูตร

อ นัตตลักขณะสูตร” เป็นพระสูตรใหญ่ เป็นพระสูตรที่มีความสำคัญสูตรหนึ่ง ในบรรดาพุทธมนต์ทั้งหลาย ด้วยเป็นพระสูตรที่สอง รองจากธรรมจักกัปปวัตตนสูตรลงมา ที่ว่า เป็นพระสูตรที่มีความสำคัญนั้น ก็เพราะว่า อานุภาพของพระสูตรนี้แหละ ที่บันดาลให้พระอริยสงฆ์สาวก เป็นพระอรหันต์ขึ้นในโลก เป็นครั้งแรก แปลว่า พระอรหันต์สาวก ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก ด้วยอนัตตลักขณะสูตรนี้โดยแท้ ดังนั้น จึงได้กล่าวว่า เป็นพระสูตรที่มีความสำคัญมากอยู่

เ มื่อพิจารณาดูตามความสำคัญของพระสูตรนี้แล้ว น่าจะนิยมสวดนิยมสาธยายในสถานที่สำคัญทั่วๆไป เช่นในสถานที่ประกอบพิธีมงคลต่างๆ แต่ประหลาดที่รูปการณ์กลับตรงข้าม ในประเทศเราไม่นิยม เช่นนั้น กลับนิยมให้พระสงฆ์สวดในงานทักษิณานุปทาน คือในงานศพเท่านั้น ทั้งนิยมสวดในงานทำบุญ ๗ วันของผู้ตายเสียด้วย จึงเป็นรูปการณ์ผิดจากที่เราคาดคะเน แต่ก็ไม่มีใครขัดแย้ง ฝึกทำตามรูปการณ์อย่างที่เรานึก เราคิด คงปล่อยตามเลย จัดกัน ทำกันตามความนิยม โดยเกรงจะเป็นโทษ ไม่เกิดประโยชน์ดังมุ่งหมายไว้ เป็นอันว่า ทำตามท่าน สบายใจดี จะได้ยุติกันเป็นแบบว่า ถ้าสวดมนต์ทำบุญ ๗ วัน ขณะที่ศพอยู่กับสถานที่นั้นๆ ให้พระสงฆ์สวดอนัตตลักขณะสูตร

เ รื่องนี้ ส่วนมากคฤหัสถ์เห็นจะรู้น้อยคน หากแต่เป็นความนิยมในหมู่พระเจ้าพระสงฆ์เอง และก็เป็นความนิยมที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงพิธีการทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน ซึ่งเพิ่งได้เริ่มมีงานทำบุญแบบนี้ขึ้น เมื่อรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ นี้เอง และเป็นเรื่องที่สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงจัดถวายให้สมพระราชประสงค์ ที่ทรงพระราชดำริจะบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนเปตพลี ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน เพื่อให้ได้เจริญพระพุทธมนต์ เฉพาะบทใหญ่ๆ โดยไม่ซ้ำกัน เช่นเดียวกับงานพระราชพิธีตรุษ ขึ้นปีใหม่ ซึ่งมี ๓ วัน พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ทั้ง ๓ วัน ก็ไม่ซ้ำกัน คือวันหนึ่ง เจริญพระพุทธมนต์อย่างหนึ่งๆ คือวันที่ ๑ สวด ๗ ตำนาน วันที่ ๒ สวดธรรมจักร วันที่ ๓ สวดมหาสมัย ต่างกันทุกวันจนเสร็จพระราชพิธี

ด ังนั้น งานพิธีทำบุญส่วนเปตพลี ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน จึงควรมีพุทธมนต์สำหรับสวดเป็นประจำ ในพิธีกรรมของพระสงฆ์ดังกล่าวแล้วในการเลือกคัดจัดสรรพระพุทธมนต์สำหรับสวดป ระจำวันที่กล่าวนั้น ก็เลือกคัดโดยอนุโลมตามประเพณีเดิม คือ ประเพณีเดิมนิยมสวด มาติกา พระธรรม ๗ คัมภีร์ สุดท้ายก็ลงเอยด้วย อนิจฺจา วต สงฺขารา เป็นต้น ฉะนั้น พระพุทธมนต์ที่คัดเลือกเอามาสวดใน ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน ก็เป็นมนต์ที่ทรงอรรถรส อนุโลมตามนัยนั้น ดังกล่าวแล้ว

เ มื่อ อนัตตลักขณะสูตร มีอรรถในทำนองนั้น จึงได้รับยกขึ้นเป็นมนต์สวดประจำงานทำบุญ ๗ วัน ครั้นเมื่อได้ทำกันจนเปนประเพณีนิยมเสียแล้ว การจะย้ายเอาอนัตตลักขณะสูตรไปสวดในงานอื่นไม่ใช่งานศพ ย่อมเป็นการฝืนความรู้สึกของประชุมชนอย่างแรง ผู้รู้ทั้งหลายจะไม่พอใจทำกันเป็นแน่ ทั้งๆที่รู้อยู่ว่า อนัตตลักขณะสูตร เป็นพระพุทธมนต์ที่ทรงคุณพิเศษ ซึ่งควรจะเป็นมงคลพิเศษดังกล่าวแล้ว ก็สู้อนุโลมตามไม่ได้ สบายใจ

ฉะนั้น จะได้เล่าถึงความเป็นมาของพระพุทธมนต์บทนี้ พอเป็นเครื่องเจริญศรัทธาสัมมาปฏิบัติ ของพุทธบริษัทสืบไป เรื่องมีว่า :-

เ มื่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมจักกัปปวัตตนสูตร เทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ฤๅษีทั้ง ๕ ให้พระอัญญาโกณทัญญะได้ธรรมจักษุ บรรลุพระโสดาปัตติผลแล้ว ก็ทรงพระโสมนัสผ่องแผ้วเบิกบานพระทัย ด้วยสมพระมโนนัยที่ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จมา โปรดให้พระอัญญาโกณทัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม หมดจด เกิดญาณทัศนะปรากฏชัดเป็นพยานในจตุราริยสัจจ์ ที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วเป็นอย่างดี ต่อนั้นสมเด็จพระชินศรี ก็ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้พระอัญญาโกณทัญญะเป็นภิกษุสงฆ์ทรงจาตุปปาริสุทธิศีล ในพระพุทธศาสนาเป็นองค์แรก แปลกกว่าบรรพชิตทั้งหลายด้วยสุปฏิบัติ เพราะดำเนินในอริยวงศานุวัตรตามสมณะวิสัย ซึ่งมั่นคงอยู่ในอริยปฏิปทา

ค รั้นวันรุ่งขึ้น เป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันวัสสูปนายิกา วันเข้าปุริมพรรษา พระบรมศาสดาจึงทรงจำพรรษา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันด้วยพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ในวันต่อมาทรงแสดงปกิรณกเทศนาโปรดท่าน วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสชิ ทั้ง ๔ รูป ให้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคล เสมอด้วยพระอัญญาโกณทัญญะแล้ว ครั้นถึงวันแรม ๕ ค่ำ ก็โปรดให้พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้น เข้ามาเฝ้า รับพระธรรมเทศนาเพื่อบรรลุอริยผลเบื้องสูงต่อไป เมื่อพระปัญจวัคคีย์เข้ามาใกล้ตั้งใจสดับพระโอวาทอยู่พร้อมกันแล้ว จึงโปรดประทานพระธรรมเทศนาอนัตตลักขณะสูตร โดยพระพุทธภาษิตว่า รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตา เป็นอาทิ ความว่า “ภิกษุทั้งหลาย รูป คือ ร่างกาย, เวทนา คือ ความรู้ สุขทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์,สัญญา คือ ความจำ, สังขาร คือ สภาพที่เกิดกับใจ ปรุงใจให้ดีบ้าง ชั่วบ้าง และวิญญาณ คือใจ ขันธ์ ๕ นี้เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน, ถ ้าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ จักได้เป็นตนแล้ว ขันธ์ ๕ นี้ ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่อความลำบาก และผู้ที่ถือว่า เป็นเจ้าของ ก็จะพึงปรารถนาได้ในขันธ์ ๕ นี้ ตามใจหวังว่า “ จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเลย” เหตุใด ขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่ตน เหตุนั้น ขันธ์ ๕ นี้ จึงเป็นไปเพื่อความลำบาก และผู้ที่ถือว่าเป็นเจ้าของ ย่อมปรารถนาไม่ได้ในขันธ์ ๕ นี้ ตามใจหวังว่า “จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเลย”

พ ระองค์ทรงแสดงขันธ์ ๕ ว่า เป็นอนัตตา สอนภิกษุปัญจวัคคีย์ให้พิจารณาแยกกาย ใจ อันนี้ออกเป็นขันธ์ ๕ เป็นทางวิปัสสนาอย่างนี้แล้ว ตรัสถามความเห็นของท่านทั้ง ๕ ว่า “ ภิกษุทั้งหลาย ท่านสำคัญความนั้น เป็นไฉน ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุขเล่า”

เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตนของเรา”

ไม่อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

ต ่อไปนี้ พระองค์ตรัสสอนสาวกทั้ง ๕ ให้ละความถือมั่นในขันธ์ ๕ นั้น ต่อพระธรรมเทศนาข้างต้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย เหตุนั้นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ล่วงไปแล้วก็ดี ยังไม่มีมาก็ดี เกิดขึ้นจำเพาะบัดนี้ก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี งามก็ดี ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงแล้วอย่างไร ดังนี้ว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา” ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ครั้นเบื่อหน่าย ก็ปราศจากความกำหนัด รักใคร่ เพราะปราศจากความกำหนัด รักใคร่ จิตก็พ้นจากความถือมั่น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นรู้ชัดว่า ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้ประพฤติจบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อเป็นอย่างนี้มิได้มี เมื่อพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนาอนัตตลักขณะสูตรอยู่ จิตของภิกษุปัญจวัคคีย์ ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสเทศนานั้น พ้นแล้วจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จพระอรหันต์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์พระอรหันต์บังเกิดขึ้นในโลก ๕ องค์ด้วยกัน ด้วยประการฉะนี้ .

———————————

(บรรยาย ๒ กันยายน ๒๕๐๐)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น