วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การบรรยายที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

ตำนานสวดมนต์

รายการบรรยายตำนานสวดมนต์

ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

ของ

พระธรรมโกศาจารย์

สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา

การสวดมนต์ก็ดี การฟังมนต์ที่พระสวดก็ดี ก่อนอื่นเราควรจะทราบว่า สวดมนต์อย่างไร ? ของใคร ? เพื่ออะไร ? ด้วยว่า เมื่อทราบชัดแล้ว จะเป็นงานที่เราทำด้วยความรู้ ความเข้าใจ ไม่ใช่ทำโดยไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือทำตามเขาทำกัน เพราะการทำอะไรได้ความรู้ เป็นความสบายใจ รู้สึกเป็นสุขในขณะทำ และทำแล้ว ก็เบิกบาน แช่มชื่น

สวด นั้น ได้แก่ กิริยาที่ตั้งใจกล่าวมนต์ด้วยจิตกุศล มีเสียงดังพอประมาณ ไม่ใช่เสก เพราะเสก ไม่ต้องใช้เสียง และต่างจาก บ่น ซึ่งเป็นการกล่าวซ้ำๆ เพื่อให้จำได้ เช่น การท่องบ่น หรือเช่นผู้ใหญ่บ่นว่าแก่ผู้น้อย แท้ก็คือ เตือนหรือกล่าวย้ำให้จดจำ

อนึ่ง มนต์ ที่สวดนั้น แต่ละบท หรือแต่ละอักษรล้วนเป็นวิทยาคุณของท่านผู้ทรงคุณควรแก่การคารวะ เช่น ครู อาจารย์ เป็นต้น ดังนั้น มนต์จึงมีมากอย่าง นิยมเรียกว่า เวท บ้าง คาถา บ้าง อาคม บ้าง ซึ่งความจริง แตะละอย่างๆ ก็เป็นมนต์ทั้งสิ้น หากแต่แยกลักษณะและอาการที่ทำ เรียกต่างกันไป เช่น ร่ายเวท เสกคาถา ภาวนาอาคม

มนต์ที่เรานิยมสวดกันนั้น ส่วนมากเป็นมนต์ของพระพุทธเจ้า หรือ สาวก ของพระพุทธเจ้า จึงมีนิยมเรียกว่า พระพุทธมนต์ คำว่า สวดมนต์ เป็นคำเรียกที่ดาด รู้กันง่าย มีคำเรียกการสวดมนต์ของคนไทยที่ฟังไพเราะอยู่คำหนึ่งว่า เจริญพระพุทธมนต์ แต่ก่อนเราจะเห็นปรากฏตามฏีกานิมนต์พระเจริญพระพุทธมนต์บ้าง ตามหนังสือเชิญญาติมิตรไปฟังพระเจริญพระพุทธมนต์บ้าง เดี๋ยวนี้ดูหายไป ยังเหลือแต่คำว่า เชิญไปหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ ในงานสมรสเท่านั้น แต่ก็มีเฉพาะตัวหนังสือถ้อยคำที่ว่านั้น หันไปลงเอยเอาว่า ไปฟังพระสวดมนต์บ้าง ไปรดน้ำ บ้าง เห็นจะเป็นเพราะพูดง่าย

การสวดมนต์ หรือการเจริญพระพุทธมนต์นี้ ทำเพื่อความเจริญแก่ตนบ้าง เพื่อความเจริญแก่ผู้ฟัง หรือแก่ที่ประชุมในงานบ้าง

สำหรับเพื่อความเจริญแก่ตนนั้น ทำตามลำพังผู้เดียวบ้าง ทำเป็นคณะบ้าง แต่นิยมทำในที่อยู่ของตนหรือสำนักของตน เช่น ภิกษุ สามเณรสวดมนต์ ที่หอสวดมนต์ หรือโบสถ์ เป็นปกติ ยิ่งในเทศกาลเข้าพรรษา พระเณรทุกวัดยิ่งศรัทธาสวดทั้งเช้าเย็น แถมเวลาย่ำรุ่งอีกถือเป็นกุศลวัตร คือเป็นการบำเพ็ญบุญของพระเณรเป็นประจำ เช่น วัดมหาธาตุ วัดพระเชตุพน วัดเบญจมบพิตร วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นต้น แต่ก่อนเมื่อพระเณรสวดมนต์จบแล้ว ศิษย์ตีระฆังเป็นสัญญาณจบสวดมนต์ ชาวบ้านได้ยินเสียงระฆังพากันประณมมืออนุโมทนาสาธุการในกิจวัตรอันเป็นส่วนภ าวนากุศลของพระสงฆ์ บัดนี้ ดูบางไปมาก

ครั้งหนึ่ง ที่วัดเทพศิรินทราวาส สมัยที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( เจริญ ) เป็นเจ้าอาวาส ประมาณ ๒๕ ปีมานี้ มีระเบียบให้ตีระฆังเป็นเพลงสาธุการเวลาสวดมนต์จบบ้าง เทศน์จบบ้าง ในความอำนวยการของพระครูวรวงศ์ ฐานานุกรมของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทราบว่าใช้ระฆังหลายลูก แต่ละลูกมีเสียงต่างๆกัน สามารถทำเป็นเพลงได้ดี ได้รับความนิยมมาก เสียดายที่เลิกล้มไป เห็นจะหาคนตีได้ยาก

การสวดมนต์ ถือเป็นวัตรปฏิบัติประจำอย่างหนึ่งของพระสงฆ์ไทย แม้นักบวชนุ่งขาวห่มขาวในสำนักใหญ่ๆ เช่น สำนักประชุมนารี จังหวัดราชบุรี ก็ดี วัดสนามชี จังหวัดเพชรบุรี ก็ดี ทราบว่าถือเป็นกฏบังคับไว้แข็งแรงทีเดียว มีคำร้อยกรองสดุดีการสวดมนต์ของสำนักประชุมนารี จังหวัดราชบุรี อยู่บทหนึ่งว่า อันประชุม นารี ศรีสวัสดิ์ เป็นวงวัด ชีนิยม บ่มกุศล อาศัยสร้าง สันติบท ทศพล เจริญมนต์ ค่ำเช้า เอาเป็นงาน สงบกาย วจี มีสติ สมาธิ จิตระงับ ดับฟุ้งสร้าน นิวรณ์ห่าง พอสว่าง ทางนิพพาน อยู่ชื่นบาน สตรี ไม่มีภัย ทั้งสถาน ลานรอบ ในขอบเขต เหมาะแก่เพศ นารี ชีอาศัย สะดวกแก่ สตรี มีวินัย จะดูใด งามล้วน เจริญตา. ฯ ล ฯ

งานที่มีการสวดมนต์นั้น นิยมทำเป็น ๒ งาน คือ งานมงคล ๑ งานอวมงคล ๑ การได้มาสมความปรารถนา ถือว่าเป็นเครื่องเจริญใจ เช่น การได้ลาภ ได้ยศ ได้ภรรยา ได้บุตร ได้ชีวิต รอดมาแต่คราวประสบภัย เป็นต้น งานที่ทำในการนี้ เรียกว่า งานมงคล

การเสียไปอย่างผิดปกติ ถือเป็นเครื่องเศร้าใจ เช่น การศพ งานที่ทำในการนี้ เรียกว่า งานอวมงคล

แม้พระพุทธมนต์ที่จะสวดในงานทั้ง ๒ นี้ ก็นิยมต่างกันตามรูปงาน คือ งานมงคล สวดอย่างหนึ่ง งานอวมงคล สวดอย่างหนึ่ง ถ้าจะกล่าวโดยเนื้อหาของมนต์แล้ว ก็ไม่เห็นมีมนต์บทไหนเป็นอวมงคล แต่เมื่อนิยมลงไปเช่นนี้ ก็ต้องจัดให้ชอบแก่รูปงาน เช่น คนได้ยินพระสวด กุสลา ธมฺมา ในงานศพเป็นปกติ เลยทึกทักเอาเป็นบทสวดให้ผีฟัง ยิ่งไปเห็นเขาเคาะหีบศพบอกผู้ตายให้ฟังด้วย ก็ดูเป็นมนต์บทหนึ่งที่ผีฟังออก หรือผีชอบฟังอย่างปลาดและเข้าใจผิดต่อไปอีกว่า เพื่อนผีคงจะมาฟังกันมาก จนทำให้บางคนกลัว พอได้ยินพระสวด กุสลา ธมฺมา เป็นไม่ยอมออกจากมุ้งจากห้องโดยลำพัง แม้จะร้อนจนเหงื่อยิบๆ ก็ยอมทน เพราะความเข้าใจผิดเป็นมูล ความจริง แม้จะสวด กุสลา ธมฺมา ก็สวดให้คนฟัง มิใช่สวดให้ผีที่ไหนฟังกัน เมื่อมีการนิยมสวดในงานศพแล้ว แม้จะรู้ความว่า มนต์ที่สวดนั้นล้วนเป็นคุณประโยชน์ดีทุกบทก็ตาม ถึงกระนั้นก็ยากจะฝืนความนิยมหรือแย้งความเข้าใจของคนอื่นได้ ต่างว่า มีพระเอาบท กุสลา ธมฺมา ไปสวดในงานสมรส เชื่อว่าเจ้าภาพคงไม่ยอมเป็นแน่แม้ข้าพเจ้าก็ไม่หาญให้ทำเช่นนั้นได้ ความจริง ไม่เพียงจะเลือกแต่มนต์ ยังสิ่งของที่ใช้ในงานมงคล ก็กำหนดไว้ให้มีอีก คือ ด้ายสายสิญจน์ ขันน้ำมนต์ มีใบเงินใบทองใส่ มีเทียนขี้ผึ้งดีติดขันไว้ ๑ เล่ม ซึ่งถ้าเป็นงานศพ จะไม่ใช้ทั้งสิ้น แม้พระที่สวดก็ยังจำกัดจำนวนไว้อีกว่า ถ้าสวดมนต์ในงานมงคล จะต้องไม่น้อยกว่า ๕ รูป ถ้ามี ๔ รูปเป็นไม่ยอมให้สวด เพราะ ๔ รูป นิยมให้สวดประจำศพ ถ้าจำเป็นหาพระไม่พอ ๕ รูป ท่านว่าสวดเพียง ๓ รูปยังดีกว่า คงเกรงไปว่าจะไม่เป็นมงคลแก่งานที่จัดขึ้น ขอให้เห็นอำนาจของขนบธรรมเนียมที่นิยมกันไว้เถิด ฉะนั้น เมื่อเราอยู่ในถิ่นใด สมาคมใดจึงจำเป็นต้องเรียนขนบธรรมเนียมของถิ่นนั้น สมาคมนั้น แล้วอนุวัตรตามความนิยมของเขา หากไปขัดแย้งเข้า อาจไม่ได้รับความสุขใจ อย่างต่ำก็ถูกตำหนิว่า ขาดสัปปุริสธรรม ฯ.



์Note : เนื้อหาทั้งหมดที่ได้พิมพ์นี้ พิมพ์ตามต้นฉบับที่จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2502 จะเห็นได้ว่าคำบางคำหรือการเขียนในแต่ละประโยค จะมีคำบางคำที่เขียนไม่เหมือนปัจจุบัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น