วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ชัยมงคลที่ ๖

ตำนานชัยมงคลที่ ๖

ใ นสมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับสำราญพระกายอยู่ในกุฏาคารศาลา ณ ป่ามหาวัน ใกล้เขตขันฑ์แว่นแคว้นพระนครไพศาลี ของพระเจ้าลิจฉวีบรมกษัตริย์ ทรงบำเพ็ญเป็นอาจิณวัตรในพุทธกิจทั้ง ๕ ประการ จนปรากฏเป็นอภินิหารแก่ชาวโลก พากันมุ่งหมายบรรลุวิโมกข์ออกมาบำเพ็ญสัลเลขปฏิบัติ พูนเพิ่มจำนวนพุทธบริษัทสุดที่จะคณนา ดุจดังดวงดาราในท้องฟ้าเหลือที่จะคณนา แวดล้อมดวงจันทราก็ปานกัน

ค รั้งหนึ่ง มีนิครนถบุตรผู้หนึ่ง เล่าเรียนรู้ถึงฝั่งไตรเพท มีความสามารถดีเป็นพิเศษในเชิงปฏิภาณ ทั้งมีสำนวนโวหารแห่งถ้อยคำก็คมคายเป็นบุตรชายของนิครนถอาจารย์และนางนิครนถ ีอาจารย์ ซึ่งทั้งสองท่านมีปรีชาญาณในไตรเพท เป็นราชครูสอนพระเวทย์แก่ราชวงศ์ลิจฉวีผู้มีเกียรติควรแก่คารวะ บุตรของท่านทั้งสองนี้มีนามว่า สัจจกะ มีปรีชาชาญิวริยะอย่างไพศาล ได้เล่าเรียนเวทางค์จากอาจารย์ คือ บิดามารดาประสิทธิ์ประสาทให้ จะบรรยายเรื่องใดๆก็แจ่มแจ้ง ผู้ฟังเลื่อมใสได้ความเคารพนับถือไว้วางใจ หากจะโต้แย้งเรื่องอันใด ก็มีคนยำเกรงไม่กล้าทัดทานกิตติศัพท์เลื่องลือไพศาลว่าเป็นนักปราชญ์ มีปรีชาสามารถไม่มีใครเสมอในเรื่องนี้ เหตุดังนี้ พระเจ้าลิจฉวีและเสนาบดี รวมทั้งเศรษฐี จึงพากันนิยมยินดีชักชวนญาติมิตรพาบุตรไปฝากศิษย์สัจจกะนิครนถ์ เพื่อจะให้สัจจกะสอนบุตรของตนๆ ให้มีความรู้ความสามารถในคุณวิทยา กิตติศัพท์ ก็ยิ่งลือชาปรากฏสูงด้วยเกียรติยศ ดูประหนึ่งว่าจะเป็นยอดของคณาจารย์มีอาวาสมโหฬารเป็นสถานที่สอนศิษย์ สัจจกะมัวเมาในสักการะวรามิสนำให้เห็นผิดเพราะทิฐิมานะ ถือตัวว่าเลิศล้น ถึงกับยกตนขึ้นข่มขี ทับถมผู้อื่นว่า หามีความรู้เสมอตนไม่ ถ้าได้สดับเกียรติคุณของผู้ใด น้ำใจก็คิดริษยา ตั้งหน้าตั้งตาพยายามที่จะให้เขาย่อยยับอัปภาคย์ เพราะสันดานพาล

ส ตฺถุ กิตฺติสทฺทํ สุตฺวา ต่อมา สัจจกะได้สดับเกียรติคุณสรรเสริญพระบรมศาสดาจารย์ขจรไปในทิศน้อยใหญ่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกษัตริย์ เสด็จออกผนวชจากศากยสกุล ทรงพระคุณสมบัติสมบูรณ์หาผู้เสมอมิได้ ด้วย สมตึสปารมี อรหํ เป็นพระอรหันต์ มีพระจิตบริสุทธิผ่องใส ทรงจำกัดกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปดให้หมดสิ้นไป พร้อมทั้งวาสนา หามลทินใดๆมิได้ที่จะมาพ้องพาน มีพระทัยสดชื่นเกษมสานต์ ดังดอกบัวแย้มกลีบบานในตอนเช้า สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้จตุราริยสัจ ด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มีพระปรีชาญาณหยั่งรู้ในสรรพธรรมทั้งมวล วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ทรงเพียบพร้อมถ้วนในวิชชา ๓ และจรณคุณ ๑๕ มี ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติญาณ คือ การระลึกชาติหนหลังได้ เป็นต้น อธิบายว่า ทรงรู้ดีและปฏิบัติดีสมควรแก่ความรู้นั้น ในสถานะที่เป็นพระพุทธเจ้าและในสถานะทั้งหลายอื่น คือ ผู้ดำรงอยู่ในฐานะนี้ ควรจะรู้อะไรดีเพียงใด และปฏิบัติเท่าใด นี้เป็นพุทธวิสัย ซึ่งใครๆไม่อาจมีเสมอได้ สุคโต พระองค์จะเสด็จไป ณ ที่ใด ก็เสด็จไปด้วยความสวัสดี เกิดชัยชนะเหล่าไพรีทุกสถาน ไปให้เกิดสุขสำราญแก่คนถ้วนหน้า ได้รับการต้อนรับบูชาด้วยสักการะวรามิส โลกวิทู ทรงรู้แจ้งจนทุกทิศตลอดสากลโลกตั้งแต่พรหมโลกลงมา จนถึงยมโลก อนุตฺตโร ไม่มีมนุษย์เทพยดา หรือ พรหมตนใด จะมีคุณสมบัติเหนือพระองค์ ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีฝึกสอนมนุษย์คดให้ตรง โดยไม่ใช้ศัตราวุธทุกประการ แม้ผู้นั้นจะเป็นยักษ์เป็นมาร ก็ตรัส ประธานธรรมสั่งสอน แก้ความร้ายแข็งกระด้างให้โอนอ่อนด้วยพระปรีชา สตฺถาเทวมนุสฺสานํ เป็นบรมศาสดาของเทพเจ้าและเหล่านิกรชายหญิงทั่วไป พุทฺโธ ทรงเบิกบานพระหฤทัย และยังชาวโลกให้มีความเบิกบานดวงใจ ตื่นจากกิเลสนิทรา เกิดดวงตาเห็นบาปบุญและคุณโทษ ตลอดสิ่งอันเป็นประโยชน์อันควรกระทำหรือหาไม่ ภควา ทรงมีน้ำพระทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตา พระกรุณาธิคุณ ในสรรพสัตว์เสมอกันทั่วหน้า ทรงประทานธรรมสมบัติแจกจ่ายแก่เหล่าประชานิกรสัตว์ กระทำสมบัติในโลกมิให้เป็นหมัน ให้เป็นสมบัติติดตามไปยังโลกสวรรค์และพระนิพพาน พระเกียรติคุณ ๑๐ ประการ ของพระผู้มีพระภาคขจรไกล ดังนี้ บรรดาประชาชนทั้งหลาย ตั้งต้นแต่พระมหากษัตริย์ มีจอมพล พระเจ้าพิมพิสาร แคว้นมคธรัฐ เป็นต้น ได้ยอมตนป็นศิษย์ บูชาด้วยสักการะวรามิสเป็นนิจกาล พระคุณของพระองค์จึงยิ่งใหญ่ไพศาล

เ มื่อสัจจกะนิครนถ์ได้สวนาการ ก็กระด้างด้วยมานะในจิตคิดต่อสู้เพื่อตนจะได้เฟื่องฟูยิ่งใหญ่ขึ้นไป เพราะน้ำใจมากด้วยทิฐิมานะ คิดว่าวันหนึ่งหากได้พบปะ จะได้พาพุทธบริษัทของตนเข้าเฝ้า รุกรานพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยปัญหา มั่นใจว่า ถ้าพระสมณโคดมได้ฟังวาจาอันประกอบด้วยปรีชาสามารถของเราโต้เข้าขัดแย้ง ก็จะจำนน ต่อนั้นประชาชนก็พากันยกย่องเรา ว่าควรจะได้รับเคารพบูชาจากมนุษย์และเทพเจ้าทั่วไป สัจจกะนิครนถ์คิดแล้วก็กระหยิ่มใจ พยายามฝักใฝ่หาโอกาสอยู่ทุกเวลา

อ ปรภาเค ครั้นสมัยต่อมา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงพาพระสงฆ์สัญจรเสด็จมายังพระนครไพศาลี ประทับอยู่ที่กุฏาคารศาลา ป่ามหาวันเมื่อสัจจกะนิครนถ์ทราบข่าวก็พลันมีโสมนัส พาบรรดาโอรสกษัตริย์ผู้เป็นศิษย์ติดตามมา พร้อมทั้งประชาชนชาวพระนคร พากันบทจรตามไปมากกว่ามาก เพื่อจะสดับอรรถของพระผู้มีพระภาคจะแก้ปัญหาด้วยพุทธปฏิภาณ เหล่าชนมิจฉาทิฐิก็มุ่งไปดูสัจจกะรุกรานพระสมณโคดม บ้างก็คิดเพียงจะไปชมพระบารมี และพระพุทธลีลาศ จึงเกิดเป็นมหาสันนิบาตของชาวพระนคร ต่างมุ่งหน้าพากันสัญจรตรงไปยังป่ามหาวัน

ค รั้งนั้น พระบรมศาสดาทรงเห็นสัจจกะนิครนถ์พาบรรดาโอรสกษัตริย์มาเฝ้าพระองค์ ก็ทรงทราบด้วยพระอนาคตตังสญาณว่า สัจจกะจะมาตีโวหารแสดงความรู้ในเชิงวิทยาให้ปรากฏแก่เหล่าราชโอรสของกษัตริย ์ลิจฉวี สัจจกะเป็นผู้มีความรู้ดีในไตรเพท ได้รับยกย่องว่ามีปัญญาวิเศษในหมู่คนที่รู้น้อยถ่อยปัญญา หากตถาคตจะให้จำนนด้วยพุทธปัญญาก็จะจนปัญญา หมดวาจาที่จะกล่าวแก้ บรรดาศิษย์และมหาชนก็จะเห็นเป็นผู้แพ้ให้ได้อาย จักทำให้สัจจกะเบื่อหน่ายไม่ศรัทธา ไม่แสวงหาธรรมอภิญญาอันยิ่งใหญ่สืบไป ควรที่ตถาคตจะแก้ไขให้สัจจกะละเสียซึ่งทิฐิมานะ ปลงปัญญาเห็นอรรถสาระในพระอริยธรรมวินัย ถึงแม้สัจจกะจะยังไม่มีวิสัยอันควรจะได้อริยมรรคอริยผล ก็ยังได้มอบตนเข้าในพระพุทธศาสนา สืบไปเมื่อหน้า คือ เกิดมาอีกชาติหนึ่ง ก็ยังเป็นปัจจัยให้สัจจกะเข้าถึงซึ่งสมณเพศ เป็นพระเถระผู้มีคุณพระพุทธรัตนะ ให้มหาชนเกิดความเลื่อมใส เป็นผลานิสงส์ยิ่งใหญ่ในภายหน้า ครั้งพระบรมศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณปรีชาดังนั้นแล้ว จึงได้เสด็จออกต้อนรับสัจจกะนิครนถ์พร้อมด้วยมหาชน มีกษัตริย์ลิจฉวี เป็นต้น ซึ่งมาสันนิบาตอยู่พร้อมกัน

ค รั้นได้ปฏิสันถารการปราศรัยพอให้แช่มชื่นใจในการเข้าเฝ้าแล้วมิช้า สัจจกะก็เริ่มประกาศความเป็นผู้เจ้าปัญญา ตั้งปัญหาทูลถามนานาประการ หวังจะให้พระศาสดาจารย์ทรงจำนน สมเด็จพระทศพลก็ทรงพยากรณ์ให้แจ่มแจ้งทุกข้อที่สำคัญ ๆ ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังได้ทรงย้อนถามในธรรมอันสูงสุดซึ่งอยู่ในพุทธวิสัย สัจจกะก็อึดอัดใจจนไม่อาจกล่าวแก้ต้องยอมจำนน ต่อนั้นสมเด็จพระทศพลก็ทรงบรรยาย ทำลายทิฐิมานะของสัจจกะที่หลงผิด กลับความคิดให้เลื่อมใสในธรรมของพระโลกนาถแล้ว สัจจกะก็น้อมเศียรเกล้าลงถวายอภิวาทสักการบูชา กราบทูลขออาราธนาให้ทรงพระกรุณาเสด็จไปรับอาหารบิณฑบาต ในอาวาสที่พำนักอาศัย พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก ด้วยน้ำจิตคิดจะยอยกคุณค่าของพระรัตนตรัย ซึ่งสมควรที่คนทั้งหลายจักเคารพบูชา อันตนได้เข้าใจผิดคิดดูแคลนมาเป็นเวลานาน ครั้นทราบว่า พระบรมศาสดาจารย์ทรงรับนิมนต์แล้ว ก็พาศานุศิษย์คลาดแคล้วกลับคืนยังสถาน สั่งให้จัดกระยาหารเตรียมการอังคาสพระบรมโลกนาถและพระสงฆ์สาวกในวันพรุ่งนี้

ค รั้นได้เวลารุ่งพระสุริยศรี สมเด็จพระมหามุนีบรมนาถ ก็ทรงพาพระภิกษุสงฆ์ลีลาศล่วงครรไลไปยังอาวาสของสัจจะนิครนถ์ ตามกำหนดเวลานิมนต์ของสัจจกะ ผู้จัดการต้อนรับโดยคารวะด้วยกัลยาณจิตครั้งทรงทำภัตตกิจและทรงอนุโมทนา ให้สัจจกะเกิดศรัทธากล้าหาญเลิกละลัทธินิครนถ์ที่นับถือมาแล้วเสียนานได้ นอบน้อมยอมตนอยู่ในพุทธบริษัทเป็นอันดี อันว่าองค์พระชินศรีทรงชำนะสัจจกะนิครนถ์ด้วยธรรมวิเศษจึงเป็นชัยมงคลอุดมเด ชของพระบรมศาสดา ขอชัยมงคลดังพรรณนามา จงมีแด่พุทธศาสนิกบริษัท ตามควรแก่วิสัยในการกุศล ขอยุติข้อความในชัยมงคลที่ ๖ แต่เพียงนี้ .

——————

(บรรยาย ๒๑ ธันวาคม ๒๔๙๘)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น