วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

โมรปริตร

มรปริตร นี้แปลว่า คาถาสำหรับป้องกันตัวของพญานกยูง พะบรมโพธิสัตว์ อธิบายว่า พระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นนกยูง ได้เจริญมนต์บทนี้เป็นประจำ ดังนั้น เมื่อไปในที่ใดจึงแคล้วคลาดปราศจากภัยอันตรายทั้งมวล แม้ศัตรูจะมุ่งทำร้ายก็ไม่สำเร็จ ด้วยเหตุนี้ มนต์ของพญานกยูงจึงได้รับยกขึ้นเป็นมนต์สำหรับสวดประจำในพิธีทำบุญ ในพระบรมมหาราชวัง และในบ้านเรือนของพุทธศาสนิกชนทั่วไป เพื่อความสวัสดีจากภยันตราย พระปริตรนี้ มีตำนานเล่าไว้ว่า

ครั้งหนึ่ง พระบรมโพธิสัตว์ของเรา เกิดเป็นนกยูงทอง ได้รับยกขึ้นเป็นพญานกยูง มีศักดิ์สูงกว่านกยูงทั้งหลายในป่าใหญ่นั้น อธิบายว่า ปกตินกยูงก็มีสีสัณฐ์และแวววาวด้วยสีทองงามตามวิสัยอยู่แล้ว หากแต่สีที่ขนนั้น มีสีเขียวมากกว่า จึงมีรูปลักษณะเป็นนกยูงเขียว ส่วนพญายูงโพธิสัตว์มีสีทองมาก เลื่อมแพรวพราวระยับไปด้วยสีทอง มีนัยน์ตาเหมือนผลกระพังโหม สีจะงอยปากเหมือนสีแก้วประพาฬ ขนที่สร้อยคอเป็นสีทองตัดกับสีแดงรอบคอ เป็นสามชั้น และผ่านไปกลางหลัง มีร่างกายใหญ่เท่าดุมเกวียนใหญ่ ทรวดทรงงามยิ่งนัก

วันหนึ่ง พญายูงดื่มน้ำในตระพังน้ำ เห็นเงาของตนปรากฏในน้ำงามยิ่งนัก ก็รำพังว่า เรามีรูปงามเลิศกว่านกยูงทั้งหลาย ความงามของรูปมิใช่จะเป็นเพียงเสน่ห์เรียกร้องความนิยมอย่างเดียว พร้อมกันนั้น ก็ยังเป็นช่องทางให้ภยันตรายเดินมาสู่อีกด้วย ตั้งต้นแต่ความฤษยาในหมู่นก และหมู่มนุษย์ที่ต้องการความงามเพื่อเป็นสมบัติประดับเกียรติของเขา อยู่ที่นี่ไม่ปลอดภัยแน่ ควรจะหลบไปเร้นในป่าหิมพานต์ เพื่อปลอดภัยอยู่ด้วยความผาสุกแต่ผู้เดียว

ค รั้นดำริดังนั้นแล้ว ในเพลาราตร ีขณะที่ฝูงนกบริวารกำลังหลับสนิทได้บินหนีเข้าป่าหิมพานต์ผ่านทิว เขาไป ๓ ชั้น ถึงทิวเขาชั้นที่ ๔ พบสระดบกธรณีดาดาษไปด้วยบัวต่างๆและต่อจากนั้นไป ก็มีต้นไทรใหญ่หนาแน่นด้วยกิ่งใบ ขึ้นอยู่ที่ใกล้ภูเขาลูกหนึ่ง จึงเข้าแฝงกายพำนักอาศัยอยู่ในที่นั้น

อนึ่ง ที่ตรงกลางภูเขานั้น ยังมีถ้ำใหญ่มีคูหาห้องเป็นที่เจริญใจ แม้จะเข้าอาศัยก็ผาสุก ไม่มีอันตรายจากสัตว์ร้ายใดๆ เข้ารบกวน พญายูงจึงได้ยืดเอาเป็นที่อยู่ เวลาเช้าก็ออกจากถ้ำเกาะอยู่ที่ยอดเขาในด้านตะวันออก เห็นพระอาทิตย์กำลังอุทัยทอแสงสว่างจับพื้นฟ้า ก็บ่ายหน้าเพ่งสุริยมณฑล พลางสวดปริตรป้องกันตัวว่า “อุเทตยญฺจกฺขุมา” เป็นต้น แล้วจึงร่อนลงไปหาอาหารในที่ต่างๆตลอดวัน เวลาเย็นก็กลับมายังที่พัก ครั้นเห็นพระอาทิตย์กำลังสาดแสงรังษีสนธยารำไรใกล้อัสดงคต ก็บ่ายหน้ามาข้างทิศตะวันตก ตาจับอยู่ที่สุริยมณฑล พลางก็เจริญปริตรมนต์ป้องกันตัวอีกว่า “อเปตยญฺจกฺขุมา” เป็นต้น แล้วจึงหลับนอน ครั้นรุ่งขึ้นเช้าและเย็น คือเวลาก่อนจะออกไปหากินและก่อนจะนอน พญายูงก็เจริญพระปริตรมนต์บทนี้ก่อน เป็นประจำตลอดกาล

ใจความพระปริตรนั้นว่า “พญายูงขอคารวะต่อผู้มีพระคุณ คือ พระอาทิตย์ พราหมณ์ผู้เจนจบในพระเวทย์ ตลอดสรรพธรรม พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปรีชาญาณของพระพุทธเจ้า ท่านผู้วิมุติหลุดพ้นบาป ธรรมทั้งมวล และวิมุติธรรม” กับในตอนท้าย “ ขอให้ช่วยคุ้มครองป้องกันตน”

ในที่อื่นกล่าวต่างจากนี้ออกไปว่า พญายูงมีมารดาซึ่งมีจักษุบอดทั้งสองข้างอยู่ด้วย พญายูงต้องเป็นภาระเลี้ยงดูมารดาผู้นี้ ด้วยความกตัญญูอย่างสูง คือเวลาเช้าไปปฏิบัติมารดา ทำคารวะก่อนจึงจะไปหากิน เวลาเย็นกลับมาก็นำอาหารมาปฏิบัติมารดาก่อนจึงจะไปหลับนอน

ทั้งสองนัยนี้ คงได้ความลงกันว่า พญายูงได้สวดมนต์ไหว้พระเช้าเย็น วันละ ๒ ครั้ง เป็นประจำ เป็นตัวอย่างอันดีสำหรับพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะ และได้เลี้ยงดูมารดาด้วยตนเองทั้งเช้าเย็น ด้วยความกตัญญูสนองพระคุณท่านเป็นประจำ ก็เป็นตัวอย่างสำหรับคนทั่วไปทุกชาติ ชั้นวรรณะ เป็นอย่างดี ชีวิตของพญายูงไม่ห่างจากพระ ไม่ห่างจากผู้มีคุณ ไม่เปล่าจากการกระทำความดี และด้วยเดชพระปริตรและอานุภาพความกตัญญูนี้ ได้คุ้มครองให้พญายูงปราศจากภัยพิบัติอุปัทวันตราย ได้ความสุขกายสุขใจตลอดกาล

ต่อมามีนายพรานคนหนึ่งดั้นด้นไปในป่าลึก ข้ามทิวเขาไปหลายชั้นได้เห็นพญายูงทองงามจับตา ตลึงในความงามของทรวดทรงและขนสีทองของพญายูง ถึงกับรำพึงในตัวเองว่า เป็นขวัญตาของเราที่ได้เห็นพญายูงที่เขากล่าวกันว่า นกยูงทองนั้น มีนกยูงทองจริง ไม่ใช่มีเพียงคำพูด และนายพรานก็ดีใจเพียงได้ชมเท่านั้น ครั้นกลับมาถึงบ้าน ก็มิได้แพร่งพรายให้ใครฟัง จวบเวลาใกล้ตายจึงกระซิบบอกลูกชายไว้ว่า ในทิวเขาชั้น๔ ขึ้นไปโน้น มีนกยูงทองงามยิ่งนัก

อยู่มาวันหนึ่ง พระนางเขมาราชเทวี มเหสีของพระเจ้าพาราณสีทรงสุบินนิมิตรในเวลาใกล้รุ่งว่า พระนางได้ทอดพระเนตรเห็นพญานกยูงทองงามน่ารักอย่างยิ่ง และยังได้สดับธรรมของพญายูงที่แสดงแก่พระนาง แล้วพญายูงก็บินไป พระนางร้องให้คนช่วยจับแล้วทรงตื่น จึงทราบว่าพระนางฝันไป จิตใจของพระนางครุ่นคิดถึงพญายูงไม่ขาด ได้อุบายกราบทูลพระเจ้าพาราณสีว่าแพ้พระครรภ์ ให้ช่วยหาพญายูงพระราชทาน

พระเจ้าพาราณสีทรงเอ็นดูพระนาง รับสั่งให้ประชุมพรานป่า ให้ค้นหานกยูงทอง ครั้นพรานผู้ทราบความจริงกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ก็พระราชทานรางวัลพร้อมกับรับสั่งให้เดินทางไปดักจับเป็นมาถวาย พรานนกผู้นั้นได้พยายามไปดักพญายูงในที่ต่างๆ ที่พญายูงลงหาอาหาร แม้พญายูงจะเหยียบแร้วเหยียบบ่วง แร้วบ่วงตลอดเครื่องดักใดๆ ก็ไม่ลั่นไม่รัดเสมือนหนึ่งว่าไม่มีอะไร ด้วยอำนาจพระปริตรคุ้มครองรักษา

ครั้นพระราชเทวีไม่ได้นกยูงทองดังพระประสงค์ ก็ทรงประชวรเป็นโรคฝัน ไม่มียารักษา ในที่สุดก็สิ้นพระชนม์ จึงคิดอาฆาตผูกเวรพญายูงอย่างไม่เป็นธรรม เพราะพญายูงไม่รู้ตัวว่ามีผิดอย่างใด ทรงให้จารึกตำรายาวิเศษขนานหนึ่งไว้ในแผ่นทองคำว่า ใครได้กินเนื้อนกยูงทอง ณ ทิวเขาชั้น ๔ ในป่าหิมพานต์แล้ว จะไม่แก่ ไม่ตาย แล้วบรรจุไว้ในหีบไม้

ครั้นพระองค์สวรรคตแล้ว กษัตริย์พระองค์ใหม่มาเป็นพระราชาทอดพระเนตรเห็นอักษรในแผ่นทองคำ ก็พอพระทัย ใคร่จะไม่แก่ ไม่ตายบ้าง จึงรับสั่งให้พรานป่าผู้สามารถไปหาอุบายดักนกยูงทองนั้นอีก แม้พยายามอยู่ด้วยอุบายนั้น ก็ไม่สามารถทำอันตรายแก่พญายูงได้ กษัตริย์ผู้พยายามเอานกยูงทอง ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้วถึง ๖ รัชกาล แม้พรานป่าก็ได้ตายไปแล้วถึง ๖ คน

ครั้นต่อมา นายพรานคนที่ ๗ ซึ่งพระราชาองค์ที่ ๗ ทรงใช้ให้ไปดัก ได้พยายามดักจับอยู่ถึงเจ็ดปี ก็ยังไม่สามารถจับได้ พรานจึงดำริว่า ไฉนหนอบ่วงจึงไม่รัดเท้าพญายูง พรานลอบสังเกตดูอาการพญายูงอย่างถี่ถ้วน ก็รู้ชัดว่า พญายูงเจริญมนต์พระปริตรทุกเวลาจะออกหากินและในเวลากลับ มั่นอยู่ในพระปริตรทุกเช้าเย็น ด้วยอนุภาพมนต์นี้เอง บ่วงจึงไม่รัดเท้านกยูงทองนี้ แล้วพรานก็คิดหาอุบายจับพญายูงให้ได้ก่อนเจริญพระปริตร โดยไปสรรหานางนกยูงที่งาม เสียงเพราะ มาฝึกหัดให้ทำทีท่าและร้องให้ได้ตามอุบาย แล้วก็นำมาที่ภูเขานั้น วางบ่วงดักพญายูงไว้ก่อนอรุณจะขึ้น ครั้นได้เวลาจึงดีดนิ้วมือให้นางยูงขัน เร่งเสียงกระชั้นก่อนพญายูงจะเจริญพระปริตร พญายูงฟังเสียงไพเราะ หลงเสียง ลืมเจริญพระปริตร บินร่อนลงไปจับบ่วงดักของพราน บ่วงที่ไม่เคยรัดเท้าพญายูงตลอด ๗๐๐ ปี ก็พลันรูดรัดเท้าพญายูงในขณะนั้นทันที

ท ันใดนั้น นายพรานเห็นพญายูงถูกบ่วงรัดเท้าห้อยอยู่ที่ปลายคันแร้ว แทนที่จะดีใจที่ดักไ ด้สมนึก กลับคิดสลดใจว่า พราน ๖ คน พยายามดักไม่ได้ ตายไปถึง ๖ คน แม้เราก็พยายามอยู่ถึง ๗ ปี พญายูงมั่นอยู่ในพระปริตรจับไม่ได้ เช้าวันนี้ พญายูงกระวนกระวายด้วยอำนาจความกลุ้มรุมแห่งกิเลส ลืมเจริญพระปริตร จึงถูกบ่วงรัด อยู่ในอาการลำบาก เพราะนางยูงแท้ๆ เราได้ทำให้พญายูงผู้มีศีลมีวัตรอันงามเห็นปานนี้ลำบากไม่สมควรเลย ต้องการอะไร ด้วยสักการะที่พระมหากษัตริย์จะพระราชทานให้เรา การปล่อยให้เธอไปสู่อิสรภาพเป็นความชอบยิ่งนัก ก็แต่ว่า ถ้าเราจะเข้าไปใกล ้เพื่อแก้บ่วงปล่อยพญายูงจักเข้าใจผิดว่าเราจะจับไปฆ่า ก็จะดิ้นจนเท้าหักหรือปีกหลุด เป็นโทษ เป็นทุกข์แก่พญายูง อย่ากระนั้นเลย เราจะใช้ลูกธนูนี้ตัดสายเชือกที่รัดเท้าพญายูงให้ขาด โดยเราไม่ต้องเข้าไปใกล้ ปล่อยให้พญายูงไปโดยสวัสดี ครั้งดำริดังนั้นแล้ว จึงแฝงการอยู่ในที่ซุ่มนั่นเอง ยกคันธนูขึ้นเล็งหมายยิงตัดเชือกบ่วงที่รัดเท้าพญายูง

ฝ่ายพญายูงก็ดำริว่า นายพรานพยายามดักจับเรามาเป็นเวลานาน ในที่สุดก็ดักจับเราได้ด้วยอุบายอย่างแนบเนียน ง่ายดาย แต่ไฉนจึงยังไม่จับเราไปอีกหนอ ครั้งมองดูรอบๆเห็นนายพรานกำลังยกธนูเล็งยิงมา ก็ตกใจกลัวตาย จึงได้ร้องขอชีวิตว่า

ท่านหมายทรัพย์ จับเราได้ ด้วยยากเข็ญ

โปรดจับเป็น เถิดอย่าฆ่า ให้อาสัญ

นำฉันไป น้อมถวาย แด่ราชันย์

ท่านจะได้ รางวัล ไม่น้อยเลย

นายพรานคิดว่า พญายูงเข้าใจผิด สดุ้งกลัวตาย เพราะเห็นเรา ยกธนูขึ้นจะยิง จึงพูดปลอบใจพญายูงว่า

อันธนู แข็งขัน ฉันเล็งนี้

มิได้มี ใจว่า จะฆ่าท่าน

คิดยิงตัด บ่วงบาท ให้ขาดพลัน

ขอให้ท่าน บินได้ สบายเทอญ.

พญายูงดีใจ แต่สงสัย จึงกล่าวขอบคุณว่า

ข้าขอบใจ ดีอะไร อย่างงี้นี่

ถึงเจ็ดปี ท่านเพียรอยู่ ดูขยัน

ครั้นจับได้ ไม่ทันไป รับรางวัล

คิดปล่อยฉัน ให้หลุดไป สงสัยนัก

ท่านวิรัติ ตัดใจ ในปาณา

เลิกการฆ่า ให้อภัย ได้ประจักษ์

จิตเมตตา ปราณี ดีนักรัก

น้ำใจหนัก คุณอันใด ฉันใคร่ฟัง

นายพรานเผยความรู้สึกจากน้ำใจจริงแก่พญายูงว่า

ข้าเห็นนก มามาก หลากแก่ท่าน

ช่างขยัน หมั่นบ่ม มนต์จนขลัง

อยู่ในศีล ยินในสัตย์ วัตรจีรัง

ข้าได้ฟัง เช้าเย็น ไม่เว้นวาย

ทั้งมีศีล มีธรรม ประจำมั่น

บูชาท่าน ผู้มีบุญ คุณทั้งหลาย

อีกจรรยา งามละม่อม พร้อมใจกาย

ไม่ควรตาย ก่อนรา พญายูง

อันเงินทอง ของรางวัล นั่นค่าต่ำ

ผู้ทรงธรรม นั้นหนา มีค่าสูง

ท่านอยู่ไป ได้เป็นหลัก ช่วยชักจูง

บรรดาฝูง ปักษา ในอารัญ

พญายูงปราศรัยด้วยนายพราน ว่า

คนตาดี ดูสิ่งใด เห็นได้ซึ้ง

เสมือนหนึ่ง ท่านปราณี ดีต่อกัน

เพ็ชรไร้เรือน รจนา ค่าตกพลัน

ดังตัวฉัน ท่านไม่ยก ก็ตกเลน

เอาเถิดนาย นำฉันไป ถวายราช

จะประกาศ คุณธรรม ให้โลกเห็น

ถวายสัตย์ วจนา แด่ราเชนท์

เหมือนน้ำเย็น ดับร้อน ให้ผ่อนคลาย

ดั่งเพ็ชรมี เรือนทอง เข้ารองรับ

น่าประดับ ราชหรือท่าน งามมั่นหมาย

เกิดมีค่า ร่วมกัน ดังบรรยาย

ไม่รู้วาย คงอยู่ คู่ฟ้าดิน.

น ายพรานเห็นจริงตามคำของพญายูง มีความเสื่อมใส จึงนำพญายูงทองไปถวายพระเจ้ากรุงพาราณสี ด้วยอานุภาพเมตตา และพระปริตรของพญายูง ทำให้พระเจ้ากรุงพาราณสีมีความรักใคร่ ตั้งแต่แรกทอดพระเนตรเห็น รับสั่งให้พญายูงจับบนพระแท่นที่ประทับ แล้วตรัสถามว่า

ได้ยินว่า เนื้อของท่าน นั้นมีค่า

ตามตำรา แผ่นทองคำ ทำจำหลัก

ใครกินแล้ว ไม่รู้ตาย วิไลนัก

ข้าให้ดัก ก็เพราะเห็น เจ้าเป็นยา

พญายูงประสานปีกทั้งสอง ข้างคารวะพระเจ้ากรุงพาราณสี แล้วทูลว่า

ข้าแต่องค์ ภูบาล ผ่านพิภพ

เกียรติตระหลบ ลือแจ้ง ทั่วแหล่งหล้า

ว่าทรงธรรม ทรงฤทธิ์ วิทยา

เป็นขวัญตา ข้าได้เห็น เป็นบุญนัก

ที่พระองค์ ทรงมี พระบัญชา

ดังเนื้อข้า นี้มีฤทธิ์ สิทธิศักดิ์

มฤตยู ย่ำเยง กลัวเกรงนัก

ไม่หาญหัก เข้าผจญ แม้คนกิน

ส่วนข้าเจ้า ทั้งเนื้อตัว กลับกลัวตาย

กลัวเจ็บกาย กลัวจะยาก กลัวจากถิ่น

ในที่สุด ก็ต้องตาย วายชีวิน

แต่คนกิน ไม่ตาย สงสัยนัก

ขอพระองค์ ผู้ทรง พระปรีชา

วิจารณ์หา เหตุให้ ได้ตระหนัก

ตำราทอง ของใคร โปรดได้ซัก

คนรู้จัก ถามดู คงรู้ดี

พระเจ้าพาราณสี ทรงเห็นตามถ้อยคำของพญายูงโพธิสัตว์ ตรัสให้ซักถามความจากนายแพทย์และคนเก่าๆที่สนใจในเรื่องนี้ ก็ได้ความชัดว่า เป็นเรื่องที่ทำขึ้นด้วยจิตไม่เป็นกุศล ก็โปรดให้ลายแผ่นทองคำนั้นเสีย แล้วโปรดถามพญายูงถึงความงามของขนสีทองว่า เป็นผลมาจากอะไร?

พญายูงโพธิสัตว์ทูลว่า เป็นผลของบุญเก่าในชาติก่อนโน้น คือ เมื่อครั้งได้เกิดเป็นมนุษย์ และได้เคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครนี้เอง ได้มั่นอยู่ในศิล ทาน ทุกวันธรรมสวนะได้เสด็จขึ้นรถไปเที่ยวเยี่ยมประชาชน สั่งสอนให้คนทั้งหลายตั้งอยู่ในศิล ครั้นสิ้นพระชนม์แล้ว ได้บังเกิดในสวรรค์ ได้เวียนเกิดเวียนตายเป็นมนุษย์อยู่หลายชาติ ในที่สุด ชาตินี้มาเกิดเป็นนกยูง แต่ด้วยอำนาจผลของศีล จึงทำให้มีขนเป็นสีทองงาม และมีอายุยืน

พระเจ้าพาราณสีไม่ทรงเชื่อว่า ได้มาเป็นกษัตริย์ครองพระนครนี้ ตรัสถามให้หาหลักฐานเป็นพยานยืนยัน

พญายูงทูลว่า รถคันที่ข้าพระองค์เคยทรง ครั้นเป็นมหาราชนั้น บัดนี้ ยังอยู่ใต้ก้นสระโบกขรณี ในพระราชอุทยาน ขอได้โปรดให้คนขุดรื้อดูได้ พระเจ้าพาราณสีก็รับสั่งให้ ราชบุรุษขุดรื้อสระโบกขรณีตามคำของพญายูงและก็ได ้รถอันประดับด้วยรัตนะมีค่ามาก สมจริงดังคำพญายูงทุกประการ

พระเจ้าพาราณสีพร้อมด้วยอำมาตย์และประชาราษฏร์ เสื่อมใสพญายูง พากันสักการะเป็นอย่างดี พญายูงได้ประกาศคุณของศีลธรรมและเมตตา ให้ชนทั้งหลายเกิดศรัทธาดำรงมั่นอยู่ในศีลธรรมดีแล้ว ก็ทูลอำลาพระเจ้าพาราณสี บินกลับไปสู่ถิ่นของตน

—————————————————

(บรรยาย ๓ ธันวาคม ๒๔๙๗)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น