วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ธรรมนิยามสูตร

ตำนานธรรมนิยามสูตร

ธ ัมมนิยามสูตร ตามที่นิยม ก็ใช้นิยมสวดในงานศพไม่ว่าจะเป็นศพหรืออัฐิ หรือจะไม่มีอยู่ทั้งสองอย่าง เพียงแต่ปรารภศพนั้นเป็นวัตถุที่มุ่งหมาย ก็นิยมสวดมนต์บทนี้ ที่นิยมสวดกันจริงๆนั้น ก็นิยมสวดนงานศพ ๑๐๐ วัน คือในงานศพ ๗ วัน สวดอนัตตลักขณะสูตร ในงานศพ ๕๐ วัน สวดอาทิตตปริยายสูตร พอถึง ๑๐๐ วัน ก็สวดธัมมนิยามสูตร แม้ในสัตตวารอื่นๆ ในระหว่าง ๕๐ วันก็ดี ๑๐๐ วันก็ดี ถ้าเจ้าภาพไม่เจาะจงจะให้สวดสูตรอะไรๆแล้ว พระสงฆ์ส่วนมากก็นิยมสวดธัมมนิยามสูตร ด้วยสะดวก พระสงฆ์ขึ้นปากขึ้นใจกันทั่วไป แม้แต่ในวันทำบุญ ๗ วัน หรือ ๕๐ วัน ที่ใช้สวดธัมมนิยามสูตรกันก็ไม่น้อย ดังนั้น ธัมมนิยามสูตร จึงเป็นสูตรที่สำคัญในพิธีทำบุญงานศพ และงานทำบุญอุทิศให้แก่ผู้วายชนม์ทั่วไป น่าที่คนต้องการบุญทั้งหลายจะพึงเรียนรู้ถึงความเป็นมาของมนต์ให้เข้าใจทั่ว ๆกัน

ฉะนั้น จะได้บรรยายเรื่องของมนต์บทนี้ก่อน เพื่อเป็นอาภรณ์สำหรับผู้ใจบุญทั้งหลายสืบไป เรื่องมีว่า

ส มัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร ซึ่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายใกล้พระนครสาวัตถี ทรงประทานโอวาทานุสาสนีแก่บรรดาพุทธบริษัทให้มั่นอยู่ในสุปฏิบัติเป็นนิจกาล วันหนึ่งได้ตรัสธัมมนิยามสูตรแก่บรรดาภิกษุที่มาประชุมรับพระโอวาทอยู่พร้อม กันว่า

ภ ิกษุทั้งหลาย พระตถาคตเจ้าจะบังเกิดขึ้นก็ตาม หรือจะยังไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม สภาวะธรรม คือ ความไม่เที่ยงของสังขารทั้งมวล สภาวะธรรม คือ ความเป็นทุกข์ของสังขารทั้งมวล เป็นธรรมฐิติ คือมีประจำอยู่แล้วในโลกนี้ เป็นธรรมนิยาม คือ เป็นธรรมไม่มียาม หายามมิได้ แม้พระตถาคตก็ตรัสรู้ สภาวะธรรมทั้งมวลนั้น ทั้งเมื่อตรัสรู้แล้ว ก็ยังได้ตรัสบอกได้แสดง ให้พุทธบริษัทเกิดญาณรู้ทั่วถึงในสภาวะธรรมเหล่านั้นและได้ยกธรรมนั้นไว้ในธ รรมที่พุทธบริษัทควรพิจารณา เป็นประการแรก ตถาคตได้เปิดเผยสภาวะธรรมนั้นให้แจ่มแจ้งแก่พุทธบริษัท ได้จำแนกออกไว้อย่างถี่ถ้วน ทำให้พุทธบริษัทเห็นตามได้ง่ายว่า สภาวะธรรม คือ สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา นี้เป็นความย่อในธัมมนิยามสูตร

อ ธิบายความตามพระสูตรนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงประกาศสัจจธรรม คือ ความเป็นจริงของสภาวะธรรมให้ปรากฏชัดว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้เป็นสภาวะธรรมประจำ มีอยู่ประจำโลกแล้ว ไม่ใช่พระองค์บัญญัติขึ้น และไม่ใช่ชาวโลกสมมติขึ้น หากแต่เป็นธรรมที่ชาวโลกไม่สนใจ หันหลังให้ตรงข้ามกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ทรงสนใจ ตั้งพระหฤทัยพินิจพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณ จนได้ตรัสรู้ สิ้นความสงสัย เคลือบแคลง ใช่แต่เท่านั้น ยังรับรองความจริงของ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อีกว่า ธรรมทั้ง ๓ นี้ ถึงพระพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นก็ตาม จะไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม ธรรมทั้ง ๓ นั้น ก็มีอยู่โดยสภาวะ ไม่มีผู้ใดไปลบล้างได้ และก็ไม่มีผู้ใดไปทำนุบำรุง เพราะไม่สามารถจะเข้าไปลบล้างและทำนุบำรุงได้ ทั้ง ๒ ประการ ด้วยเป็นธรรมฐิติ ดำรงอยู่ตามสภาวะ มิได้ปิดบังหรือพรางความจริงของตัวไว้แต่ประการใด คงเปิดเผยความจริงของตัวให้ปรากฏอยู่ หากแต่ผู้ที่จะเห็นความจริงจะต้องมองด้วยญาณปรีชา พินิจพิจารณาจึงจะหยั่งรู้ได้ ทั้งนี้ มิใช่เป็นธรรมลึกซึ้ง ประณีต ยากเกิดที่สาธุชนจะหยั่งรู้ หากแต่เป็นเพราะไม่เป็นสิ่งเจริญใจ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของคน คนจึงไม่นึกไม่ฝัน ไม่ใส่ใจ มองข้ามไปเสียหมด เลยกลายเป็นของยาก แปลว่า ทุกคนไม่พยายามจะรู้ เพราะไม่ต้องการรู้จริงในเรื่องนี้ต่างหาก ยิ่งกว่านั้น ยังพยายามพรางความจริงของธรรมเหล่านี้เสียอีก คือ พยายามที่จะไม่ให้คนได้เห็นได้ยิน อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา โดยกล่าวว่า ไม่เป็นมงคล สำหรับการไปดู ไปฟัง ไปศึกษาเล่าเรียนแต่ประการใด พยายามหาอุบายแก้ไขทั้งๆที่ธรรมเหล่านั้นไม่อยู่ในฐานะที่จะพึงแก้ไขได้ เพราะเป็นธรรมฐิติ ดังกล่าวแล้ว

ป ระการหนึ่งเล่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็เป็นธัมมนิยาม คือ ไม่มีนิยาม สำหรับเกิดสำหรับดับ แปลว่า อย่าไปหาฤกษ์หายามสำหรับเขาเลยว่า เวลาใด เมื่อไร อนิจฺจํ จะเกิด หรือ ทุกฺขํ จะดับ อนตฺตา จะเกิด หรือถ้าเกิดเวลานี้ จะดีมาก ถ้าดับเวลานี้จะเสียน้อยหรือจะเสียมาก เหลวไหลทั้งนั้น ไม่เป็นผลอย่างไร แม้จะพยายามหาก็หาไม่ได้ หาไม่พบ เพราะธรรมทั้ง ๓ เกิดดับอยู่ประจำ ไม่มีเวลาหยุดเกิด หยุดดับ จึงเป็นธัมมนิยาม แปลว่า ธรรมไม่มียาม ไม่มีเวลาไม่มีฤกษ์ สำหรับเกิด สำหรับดับแต่ประการใดทั้งสิ้น เกิดดับอยู่เรื่อย เกิดดับอยู่ทุกขณะ

ท ี่บุคคลยังเห็นว่า มีฤกษ์ มียาม สำหรับเกิดดับอยู่ ก็เพราะไม่พิจารณาแยก ไม่ย่อยออก ไม่พิจารณาเป็นส่วนๆไป พิจารณารวมกันเป็นรูป เป็นร่าง เป็นก้อน เป็นแท่ง จึงมองเห็นไปว่า มีเวลา มีฤกษ์ มียาม สำหรับเกิด เช่น เห็นสังขารเกิด ก็ไปกำหนดเอาเวลาเด็กคลอดจากท้องมารดา และเห็นหนเดียวเท่านั้นจนตาย หรือถ้าจะไปเห็นว่า แก่ ว่า อนิจฺจํ ก็ต่อเมื่อตาฟาง หูตึง ฟันหัก หนังเหี่ยว และถ้าจะเห็นว่าเป็นทุกฺขํ ก็ต่อเมื่อป่วยไข้ ร้องครวญคราง ถ้าจะเห็นว่า อนตฺตา ก็ต่อเมื่อตาย เมื่อใช้จังหวะพิจารณาสังขารห่างกันเป็นเวลาตั้งสิบๆปี เช่นนี้แล้ว จะรู้จริง เห็นจริงในสัจจธรรมของ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ได้อย่างไร รับรองว่ารู้ไม่ได้ทีเดียว ซึ่งที่ถูกที่แท้แล้ว จะต้องพยายามแยกออกพิจารณาเป็นส่วนๆ ดูเวลาเกิดดับติดๆกัน เช่น การเกิดของลมหายใจเข้า และการดับของลมหายใจออก เป็นต้น ให้เห็นว่าเกิดและดับอยู่ทุกขณะ แล้วจะเห็นชัดว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มีอยู่ประจำ คือ ไม่เที่ยงมีอยู่ประจำ ทุกข์มีอยู่ประจำ อนัตตามีอยู่ประจำ ไม่มีเวลาหยุดพัก สมกับที่พระสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นธัมมนิยาม แปลว่า เป็นธรรมไม่มีฤกษ์ ไม่มียาม ไม่มีเวลาหยุดพักการเกิดการดับ คือ เกิดดับอยู่ทุกขณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสรู้ ก็ทรงตรัสรู้ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา โดยเป็นธรรมฐิติ ธัมมนิยาม แม้ตรัสรู้แล้ว ก็ทรงแสดง ทรงบัญญัติ เปิดเผยแก่บรรดาพุทธบริษัท ให้ตั้งมั่นอยู่ในสุปฏิบัติตามควรแก่วิสัย ให้หมั่นพิจารณาโดยนัยแห่งธัมมนิยาม ดังบรรยายมา

เมื่อพระบรมศาสดาตรัสธัมมนิยามสูตรนี้ จบลง บรรดาภิกษุสงฆ์ก็มีความเบิกบาน ชื่นชม ในพระโอวาทานุสาสนี.

————————–

คติธรรม

อันคนเรา เข้าเค้า ละครโลก

บางคนโชค เกินเพื่อน เหมือนอย่างฝัน

ทั้งลาภยศ สุขสรรเสริญ จำเริญครัน

ไม่ช้าพลัน ถูกเอา เข้าคุกไป

ธรรมสาธก”

(บรรยาย ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๐๐)

4 ความคิดเห็น:

  1. ธรรมนิยาม คือธรรมที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นของสิ่งทั้งปวง เรียกว่าสามัญลักษณะ หรือไตรลักษณ์, เป็นธรรมนิยาม หรือธรรมฐิติได้อีก.

    ตอบลบ
  2. ธรรมนิยาม คือธรรมที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นของสิ่งทั้งปวง เรียกว่าสามัญลักษณะ หรือไตรลักษณ์, เป็นธรรมนิยาม หรือธรรมฐิติได้อีก.

    ตอบลบ
  3. ธรรมนิยาม คือธรรมที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นของสิ่งทั้งปวง เรียกว่าสามัญลักษณะ หรือไตรลักษณ์, เป็นธรรมนิยาม หรือธรรมฐิติได้อีก.

    ตอบลบ
  4. ธรรมนิยาม คือธรรมที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นของสิ่งทั้งปวง เรียกว่าสามัญลักษณะ หรือไตรลักษณ์, เป็นธรรมนิยาม หรือธรรมฐิติได้อีก.

    ตอบลบ